กรณีที่ดินอื้อฉาว สปก.4-01 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ที่มีการใช้ที่ดินผิดประเภท มีการสวมสิทธิ์และขายต่อเปลี่ยนมือนำไปสร้างหอพักและอาคารพาณิชย์ โดย สปก.ยึดคืนมาและให้เช่าจนกลายเป็น “พะเยาโมเดล” ที่จะนำไปใช้ที่จังหวัดอื่นนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นางวิชยา ตะพานวงศ์ เหยื่อรายหนึ่งที่ถูกฮุบที่ดินโดยอดีตเจ้าหน้าที่ สปก. และนำไปขายต่อสวมสิทธิ ออกมาให้ความเห็นว่า การกระทำใดๆ ก็ตามของเจ้าหน้าที่ หากมีกฎหมายรองรับก็สามารถทำได้ แต่หากภายหลังปรากฏว่าไม่มีกฎหมายรองรับ หรือมีการบิดเบือน ผู้ปฏิบัติย่อมจะต้องรับผิดชอบ สปก.ควรตอบคำถามว่า มีการพยายามเพิกถอนสิทธิทำกินของชาวบ้าน เพื่อให้นายทุนแสวงหาผลประโยชน์โดยการพาณิชย์หรือไม่ ที่ดิน สปก.4-01 ใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร ทราบว่ามีผู้ถูกเพิกถอนอีก 28 ราย ส่วนจะต่อสู้ด้วยการฟ้องศาลหรือไม่นั้น คิดว่ายาก เพราะต้องใช้เงินและเวลา ทั้งยากที่จะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ

นางวิชยาเปิดเผยอีกว่า ในส่วนเจ้าของหอพักสีส้มที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดิน และเอาที่ดินของตนไปนั้น เขาก็เสียค่าเช่าให้ สปก. และเสียภาษีให้เทศบาลด้วย เท่ากับว่า สปก.เพิกถอนสิทธิเจ้าของเดิมก็คือตน แล้วให้นายทุนที่บุกรุกปลูกหอพัก แล้วมาเสียค่าเช่าที่กับ สปก. ทั้งที่ผู้บุกรุกยังมีคดีความกับเจ้าของสิทธิเดิม และคดียังอยู่ในศาลแพ่ง แต่ สปก. กลับรับรองความถูกต้องในการบุกรุก สร้างหอพักและอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม่มีเอกสารสิทธิ กระทำของ สปก.พะเยา ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้นายทุนบุกรุกที่ สปก.เข้าไปทำประโยชน์ จึงมีคำถามว่า นโยบาย สปก.คือจัดเก็บหารายได้ค่าเช่าที่ดิน สปก. โดยไม่จำเป็นต้องทำการเกษตร และไม่จำเป็นจะต้องมีเอกสารสิทธิ สปก.หรือไม่ และยังสร้างอาคารที่ไม่ต้องขออนุญาตก็ได้ สปก.ต้องการรายได้ ด้วยการยกเลิกนโยบายจัดที่ดินให้เกษตรกรที่ยากไร้ทำกินใช่หรือไม่ ขอให้ สปก.ชี้แจงด้วย

...

ทางด้านนายวิริยะ ช่วยบำรุง อดีตป่าไม้เขตเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ทราบว่านโยบาย สปก.ปัจจุบันเป็นอย่างไร ในอดีตไม่ว่าจะเป็น สปก.4-01 หรืออะไรก็ตาม คุณสมบัติผู้ครอบครองทำประโยชน์ จะต้องเป็นเกษตรกรที่ยากไร้ และทำด้านการเกษตรเท่านั้น หากว่าผู้ที่รับที่ดินไปแล้วไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข สปก.ก็สามารถยึดคืนได้ และนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติต่อไป ไม่ใช่ไปมอบให้นายทุนไปสร้างอพาร์ตเมนต์ ทำโรงแรม หอพักให้เช่าแบบนี้ นอกจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินมีการแก้ไขกฎหมายและคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิคล้ายๆกับที่ดินของกรมธนารักษ์ เช่น ที่ดินราชพัสดุไปให้ประชาชนเช่าทำประโยชน์ เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบต่อไป “เชื่อว่ามีปัญหาแน่ เกษตรกรที่มีคุณสมบัติยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะพวกที่ถูกยึดคืนที่ สปก. และที่อ้าง ม.30 วรรค 5 ของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ไม่ทราบว่ามีการแก้ไขคุณสมบัติตัวนี้หรือไม่ หากไม่ใช้กฎหมาย สปก.ก็ต้องใช้กฎหมายกระทรวงการคลังของกรมธนารักษ์ที่ให้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุเสียก่อน จากนั้นก็ให้กรมธนารักษ์ทำเป็นพื้นที่ราชพัสดุนำไปทำประโยชน์”


จ.กาฬสินธุ์ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบหลุมขนาดใหญ่ ที่ถูกขุดดินขนาดกว้างประมาณ 60 เมตร ลึก 15 เมตร ยาว 1 กม. ริมถนนบ้านถีนานนท์-บ้านหนองไฮ ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ต.โพนทอง อ.เมือง พบว่ามีการนำเศษต้นไม้แห้งมากองปิดไว้ พบนายทองสูน เผ่าหอม อายุ 48 ปี อยู่บ้านโคกน้ำเกลี้ยง หมู่ 10 ต.โพนทอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ กำลังรับจ้างทำการเกษตรอยู่ใกล้หลุมดินดังกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่า เมื่อ 2 ปีก่อนมีผู้รับเหมานำเครื่องจักรและนำรถบรรทุกมาขนดินออกไป แต่ไม่รู้ไม่ว่าที่ดินบริเวณนี้เป็นของใคร เท่าที่ทราบเป็นที่ดิน สปก.ซึ่งคนขับรถบรรทุกดินบอกว่าเป็นของ “เจ๊นาง” ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยร้องเรียนไปยังจังหวัดแล้วแต่ไม่คืบหน้า ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รักษาการ หน.สนง.จังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะเลขาฯศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จะต้องรื้อเรื่องดูว่ามีการร้องเรียนมาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหรือไม่ หากพบว่าขุดดิน สปก.จะต้องสอบสวนว่าใครเป็นผู้นำเครื่องจักรเข้ามาขุดดิน และจะต้องตรวจสอบต่อไป.