ชื่นชมนักท่องเที่ยว-ทีมสัตวแพทย์ ช่วยเหลือ "น้องคำแก้ว" เต่าปูลูกระดองแตก ที่นอนนิ่งบนหาดทรายของน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง ขับรถหาคลินิกรักษาในตัวเมือง ระยะทางกว่า 80 ก.ม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายประวิทย์ ใจคำ หน.อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวว่าเจอน้องเต่าปูลู นอนนิ่งๆ อยู่บนหาดทรายของน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง ชั้นที่ 3 และสังเกตเห็นรอยแผลแตกบริเวณส่วนท้ายของกระดองและโคนหาง สันนิษฐานว่าได้รับบาดเจ็บ จึงไม่สามารถไปไหนได้ นักท่องเที่ยวคณะดังกล่าว จึงได้ขึ้นมาแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งปฏิบัติงานดูแลนักท่องเที่ยวบริเวณน้ำตกแม่เกิ๋ง

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่ากระดองมีรอยแตกเป็นทางยาว และมีรอยแผลบริเวณหาง (คาดว่าอาจจะโดนหินทับ หรือโดนหินร่วงทับ เนื่องจากลำห้วยและน้ำตกชั้นที่ 3 อยู่กลางป่า รถไม่มีทางทับได้ และน้องค่อนข้างผอมคาดว่าน่าจะอดอาหารมาหลายวัน) เมื่อเห็นดังนั้น จึงรีบเอาน้องขึ้นรถมาตระเวนหาหมอ (สัตวแพทย์) ในโรงพยาบาลรักษาสัตว์/คลินิกรักษาสัตว์ ในตัวเมืองแพร่ ให้ทันก่อนค่ำ ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร กว่าจะมาถึงในเมืองก็เกือบทุ่ม แล้วยังต้องค่อยๆ พาไปแต่ละคลินิก (ไม่ใช่ว่าทุกคลินิกจะรักษาเต่าได้) จนมาถึงคลินิกแห่งที่ 4 จึงมาเจอคุณหมอ (สัตวแพทย์) ที่เคยรักษาน้องเต่าในลักษณะนี้ (กระดองแตก) มาก่อน น้องจึงได้รับการรักษา

...

คุณหมอบอกว่า จุดที่กระดองแตก เป็นบริเวณที่ไม่มีอวัยวะสำคัญอยู่ อาการน้องจึงไม่โคม่า แต่ก็คงเจ็บน่าดู เพราะเมื่อคุณหมอจับโดนบริเวณแผล น้องดิ้นหนี ดิ้นสู้ ทีมคุณหมอและผู้ช่วยจึงได้มารุมช่วยกันรักษาน้อง โดยทำความสะอาดแผล ซ่อมแซมและเชื่อมกระดองแล้วปิดกันน้ำชั่วคราวด้วยดินน้ำมัน (ปลอดภัย) และให้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดและอื่นๆ รวมทั้งให้ยาน้องมากินต่อเนื่องด้วย จนกว่าน้องจะหายเป็นปกติ และปล่อยคืนกลับธรรมชาติได้

นายประวิทย์ เผยว่า ต้องขอขอบคุณ คุณหมอ (สัตวแพทย์) และคณะจากคลินิก บ้าน ป.ปลา รักษาสัตว์ ที่ช่วยดูแลน้องเป็นอย่างดี พร้อมทั้งจะขอติดตามอาการของน้องจนกว่าจะหายเป็นปกติ ขอบคุณคณะนักท่องเที่ยว (คณะของเจ้าคณะตำบลแม่พุง เขต 1) ที่พบน้องแล้วมาแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันเวลา ท้ายนี้ได้ตั้งชื่อน้องว่า คำแก้ว เพราะว่าตอนพาไปคลินิก คุณหมอซักประวัติ/ทำประวัติคนไข้ถามว่า น้องชื่ออะไร นึกชื่ออะไรไม่ออก เลยตั้งชื่อน้องไปว่าคำแก้ว ซึ่งเต่าปูลู เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เมื่อน้องจะหายดี และปล่อยคืนสู่ลำห้วยแม่เกิ๋ง ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป.