ยังย้าย "พลายดอกแก้ว-พลายขุนเดช" ออกจากศูนย์บริบาลช้างไทย ที่เชียงใหม่ไม่ได้ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ประชุมหารือ รอประเมินสุขภาพอีกครั้ง พร้อมวิธีการเคลื่อนย้ายอย่างปลอดภัย 

วันที่ 10 ตุลาคม 67 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง (อบต.) ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ปศุสัตว์อำเภอแม่แตง สัตวแพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สัตวแพทย์จากศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ประชุมหารือเพื่อวางแผนการเคลื่อนย้าย "ช้างพลายดอกแก้ว" อายุ 9 ปี 2 เดือน และ "ช้างพลายขุนเดช" อายุ 14 ปี ออกจากศูนย์บริบาลช้าง หลังนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเคลื่อนย้ายช้างทั้ง 2 เชือกออกจากศูนย์บริบาลช้างของนางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

หลัง นางสาวกัญจนา โพสต์ข้อความในโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์การเลี้ยงดูช้างของศูนย์บริบาลฯ จากกรณีการช่วยเหลืออพยพช้างหนีน้ำท่วม หลังน้ำแม่แตงทะลักท่วมพื้นที่ศูนย์บริบาลเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีช้างถูกกระแสน้ำพัดไป จนสุดท้ายมีช้าง 2 เชือกล้มตายเพราะช่วยเหลือไม่ทัน

...



สัตวแพทย์ประจำศูนย์บริบาลช้าง ได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมว่า ตอนนี้ช้างทั้งสองเชือกสุขภาพแข็งแรงดี ยืนยันว่าช้างทั้ง 2 เชือก แช่น้ำท่วมอยู่เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในส่วนของพลายขุนเดช ที่ขาซ้ายหน้าเคยบาดเจ็บจากการถูกบ่วงแร้วนายพราน หลังการยืนแช่น้ำท่วมต้องประเมินอีกครั้งว่า ขาซ้ายหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลเพิ่ม หรือมีการติดเชื้อหรือไม่ สำหรับพลายดอกแก้วร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่ได้รับบาดเจ็บจากการยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน

ด้านนายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจาก นางสาวกัญจนา ให้เข้ามาช่วยเคลื่อนย้ายช้าง 2 เชือกจากศูนย์บริบาลช้าง เบื้องต้นทีมชุดแรกได้เข้ามาประเมินอาการของช้างตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้แล้ว ส่วนวันนี้ ทีมชุดที่ 2 ซึ่งมีสัตวแพทย์ที่รับผิดชอบการใช้ยาควบคุมช้างเข้ามาดูเพิ่มเติม เพราะต้องประเมินสุขภาพช้างละเอียดมากขึ้น เนื่องจากช้างเพิ่งผ่านภาวะอุทกภัย ต้องดูว่าช้างแช่น้ำอยู่เป็นเวลานานหรือไม่ มีสุขภาพอย่างไร เพราะช่วงแรกๆ ช้างอาจยังไม่แสดงอาการอะไรมาก โดยเฉพาะความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ซึ่งเหตุผลของสัตวแพทย์จะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของช้างเป็นหลัก เพื่อประเมินอีกครั้งว่า ช้างพร้อมสำหรับเข้าสู่กระบวนการเคลื่อนย้ายได้หรือไม่

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายช้าง ต้องลงรายละเอียดและวางแผน เพราะหากเป็นช้างที่ผ่านการฝึกจะทำง่ายกว่า แต่ประเมินแล้วไม่น่าจะง่าย เพราะช้างอยู่ในคอกมานานกว่า 10 ปี ปฏิสัมพันธ์กับคนจึงมีไม่มาก เป็นไปได้อาจต้องใช้วิธีผสมผสาน ทดสอบนิสัยของช้างว่า ยอมเดินตามอาหาร และยอมเดินตามขึ้นรถบรรทุกหรือไม่ หรือใช้เชือกมัดขาดึง และช้างมีนิสัยดุร้ายก้าวร้าวแค่ไหน ต้องใช้ยาควบคุมในปริมาณเท่าใด

สำหรับพังดอกแก้ว เป็นช้างบ้าน มีตั๋วรูปพรรณช้าง ตามกฎหมายสามารถย้ายได้ในพื้นที่จังหวัดได้ โดยเฉพาะการย้ายภายใต้สัตว์ที่ประสบภัย แต่พลายขุนเดชเป็นช้างป่า จึงต้องร้องขอเอกสารใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายและอนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และต้องใช้สัตวแพทย์อีกชุดในการประเมินสุขภาพก่อนการเคลื่อนย้าย และต้องไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่มีความพร้อมมากที่สุด คือ ศูนย์คชบาล จ.ลำปาง

นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า บ้านหลังใหม่ของพังดอกแก้วจะอยู่ที่โครงการร่มแดงช้าง ต.อินทขิล อ.แม่แตง ซึ่งมีความพร้อม มีพื้นที่เป็นธรรมชาติ พลายดอกแก้วสามารถปรับตัวและทำความรู้จักกับระบบการเลี้ยงใหม่ จากระบบขังคอกเป็นระบบมัดย้ายที่มีควาญดูแล คาดว่าการปรับตัวของพังดอกแก้วไม่น่ายุ่งยาก เพราะยังอยู่ในวัยที่สามารถฝึกได้ ซึ่งองค์ความรู้ของคนเลี้ยงช้างหรือควาญช้างของไทยมีศักยภาพที่จะฝึกช้างในวัย 10 ปีได้อยู่

"กรอบเวลาที่จะตอบได้ว่าจะย้ายได้ภายในเวลาเท่าใด อยู่ที่การประเมินสุขภาพของสัตวแพทย์และควาญช้างที่จะช่วยในการเคลื่อนย้าย ทางทีมงานจึงอยากร้องขอให้ทางมูลนิธิใช้ทรัพยากรและควาญช้างที่มีช่วยพาช้างออกมาขึ้นรถบรรทุก เพราะทางมูลนิธิคุ้นเคยกับช้างที่สุด แต่หากจำเป็นต้องใช้ควาญจากภายนอกมาช่วยก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยกับช้าง เพื่อความปลอดภัย" นายธีรภัทรกล่าว

นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า อีกวิธีที่คิดไว้และนิ่มนวลที่สุดคือการใช้ช้างขนาดใหญ่และช้างตัวเมียที่มีความนิ่งเข้ามาช่วยแทนการใช้แรงคนหรือเชือกดึง โดยจะให้ช้างรุ่นพี่เข้ามาประกบทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยกับช้างทั้ง 2 เชือก ก่อนพาเคลื่อนย้ายออกไป โดยเหตุผลที่สมาคมสหพันธ์ช้างไทยเข้ามาช่วยวางแผนเคลื่อนย้ายช้างในวันนี้ เพื่อช่วยเหลือช้าง หลังได้รับการร้องขอจากต้นทางที่ต้องการนำช้างออกไปโดยเร็วที่สุด เพราะนางสาวกัญจนาอยู่ในภาวะที่เกรงใจมูลนิธิฯ ซึ่งต้องดูแลช้างเป็นจำนวนมากในภาวะที่เดือดร้อนจากอุทกภัยมาอย่างหนัก

...

ส่วนประเด็นความขัดแย้งจนเกิดกระแสดราม่า เรื่องการเลี้ยงช้าง มองว่า การเลี้ยงทั้ง 2 แบบต้องออกแบบให้เหมาะสมกับช้างแต่ละเชือกและสภาพพื้นที่ รวมทั้งองค์ความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละแบบก็มีทั้งข้อดีข้อด้อย และแต่ละระบบใช้ต้นทุนที่ต่างกัน ขณะที่ระบบขังคอกที่เห็นอยู่ จากการประเมินเสาปูนที่สร้างไว้ คนเลี้ยงช้าง หรือปางช้างบางแห่งมองว่ามีต้นทุนค่อนข้างสูง คนเลี้ยงช้างในไทยส่วนใหญ่ไม่มีงบฯ แต่มีความรู้เรื่องระบบมัดย้ายจึงใช้ระบบนี้มากกว่า แต่ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและพื้นที่ด้วย