นักท่องเที่ยวแห่ร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2567 หนึ่งเดียวในโลกที่ จ.เพชรบูรณ์ ปีนี้ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันสารทไทย

วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 09.09 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ได้มีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวเพชรบูรณ์หนึ่งเดียวในโลกคือ งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2567 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันสารทไทย มีนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ เป็นผู้อัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ออกจากมณฑปวัดไตรภูมิ มาประดิษฐานบนเรือบุษบก

นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าเมืองเพชรบูรณ์อุ้มองค์พระพุทธมหาธรรมราชาประกอบพิธีดำน้ำ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 ประกอบด้วย กรมเมืองฝ่ายเวียง พล.ต.ต.สารนัย คงเมือง กรมการเมืองฝ่ายวัง นายเกรียงไกร วิกร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ กรมการเมืองฝ่ายคลัง ผศ.ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กรมการเมืองฝ่ายนา นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ

...

โดยในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา จึงได้มีการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ 9 ครั้ง โดย 3 ครั้งแรกเป็นการดำเพื่อถวายพระพรโดยหันหน้าไปทางทิศใต้ และระหว่างประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเพื่อถวายพระพรนั้นได้มีการเปล่งเสียงทรงพระเจริญ และเสียงสาธุการของผู้เข้าร่วมพิธี

จากนั้นเป็นการอุ้มพระดำน้ำอีก 6 ครั้งโดยเป็นทิศเหนือ 3 ครั้งและทิศใต้ 3 ครั้ง เพื่อเป็นการขออำนาจบารมีขององค์พระพุทธมหาธรรมราชาได้ประทานพร บันดาลให้ประชาชนชาวเพชรบูรณ์ได้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงเป็นการโยนสิ่งของมงคลที่ประกอบในพิธี ประกอบด้วยข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด กระยาสารท ให้กับประชาชนที่มาร่วมในพิธีได้นำไปรับประทาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว

สำหรับผลจากการเสี่ยงทายสำหรับปีนี้ได้ใช้เรือที่มีโขนหัว "กุญชรวารี" ซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีในป่าหิมพานต์ มีหัวเป็นช้าง คอเป็นม้า ตัวและหางเป็นปลา ครีบเป็นปีกนก อาศัยอยู่ในทะเลสีทันดร ซึ่งเป็นสายน้ำระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ลูก ซึ่งอยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ซึ่งบนยอดเขาเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สำหรับตำนานเล่าขานอันยาวนานถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธมหาธรรมราชาที่เป็นศูนย์รวมแรงศรัทธาของประชาชนชาวเพชรบูรณ์ที่มีมาอย่างยาวนานนั้นคือ เมื่อประมาณ 500 ปีที่ผ่านมาเมื่อวันหนึ่งขณะที่กลุ่มชาวบ้านในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่ง ได้นำแหล่งเรือออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่สามารถหาปลาได้แม้แต่ตัวเดียว จึงไปนั่งปรับทุกข์ที่ริมตลิ่งของ “วังมะขามแฟบ” ที่อยู่ทางตอนเหนือของตัวเมืองเพชรบูรณ์ ฉับพลันสายน้ำที่ไหลเชี่ยวได้เกิดปรากฏการณ์หยุดนิ่ง พร้อมกับได้บังเกิดมีพรายน้ำค่อย ๆ ผุดขึ้นมา และกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ พร้อมกับมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำในลักษณะของการดำผุดดำว่ายสร้างความฉงนใจให้แก่ชาวบ้านกลุ่มนี้ ก่อนช่วยกันลงน้ำไปอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ และในปีถัดมาซึ่งตรงกับ “วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10” องค์พระพุทธรูปก็ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยแม้ชาวบ้านจะค้นหาก็ไม่พบเจอร่องรอย

กระทั่งต่อมามีผู้ไปพบพระพุทธรูปในลำน้ำป่าสักบริเวณที่พบพระพุทธรูปครั้งแรกในลักษณะเดิมคือดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งพร้อมถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” โดยเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยนั้นจะมีหน้าที่ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ณ บริเวณวังมะขามแฟบ จนเป็นประเพณีสืบทอดต่อเนื่องยาวนานกระทั่งถึงปัจจุบัน ยุคสมัยและการปกครองเปลี่ยนไปจึงให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้อุ้มองค์พระพุทธมหาธรรมราชาประกอบพิธีดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประเพณีนี้มีนัยสำคัญคือการเสี่ยงทายให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองสงบสุขและร่มเย็น ประชาชนมีความสุข.

...