อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม "พะเยา-เชียงราย" รวมถึงจังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน เริ่มดีขึ้นมาก แต่ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมกับ ปริมาณฝนที่ยังตกมากขึ้นตามฤดูกาล

วันที่ 17 กันยายน 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ก.ย. 67) ที่จังหวัดพะเยา บริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่โดยรอบ ซึ่งนายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้ลงพื้นที่บัญชาการเหตุการณ์ร่วมกับนายอำเภอเมืองพะเยา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้โทรศัพท์รายงานทุกระยะ

ทั้งนี้ ได้มีการระดมสรรพกำลัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น อส. อปพร. ไปช่วยตั้งแต่ 05.00 น. กระทั่งเมื่อเช้าก่อน 10.00 น. ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฝนจำนวนมากตกอยู่บริเวณพื้นที่ป่าจังหวัดลำปาง เขตติดต่อจังหวัดพะเยา แต่เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูงกว่า จึงกลายเป็นน้ำป่าไหลลงมาท่วมขัง เพราะจริง ๆ แล้วบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยพะเยาไม่เคยมีน้ำท่วมเพราะอยู่ที่สูง แต่คราวนี้น้ำมันไหลมาจากที่สูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาจะระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนไป Big Cleaning ทันทีต่อไป

...

ในขณะเดียวกันทางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย  จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครพนม และจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นมากจนเข้าใกล้ที่จะไว้วางใจได้ แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ยังมีระดับน้ำสูงอยู่อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าบังเกิดฝนฟ้าตกลงมาหนักอีก อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ซ้ำ

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าปริมาณฝนไม่มาก จะเป็นฝนที่ตกตามฤดูกาลปกติ  แต่ก็อาจจะมีฝนที่เกิดจากการก่อตัวของกลุ่มเมฆที่เราไม่คาดคิดได้ ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้ระแวดระวังป้องกันด้วยการยกเครื่องใช้ไฟฟ้า ยกข้าวของที่จำเป็น รวมถึงเอกสารสำคัญขึ้นที่สูงได้ก็จะเป็นการเตรียมการที่ดี และที่สำคัญ ขอให้เชื่อการแจ้งเหตุของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ อปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าแจ้งเตือนอย่างไรขอให้เชื่อกัน และขอย้ำว่า กันไว้ดีกว่าแก้ พอฝนเริ่มตกก็อย่าชะล่าใจว่ารอให้มันหนักกว่านี้แล้วถึงจะยก

อย่างไรก็ดีในเชิงระบบ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับบัญชาจากท่านแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะเพิ่มการแก้ไขในจุดอ่อนของการป้องกันสถานการณ์ภัย คือ การเตือนภัยด้วยการทำระบบ Cell Broadcast ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการส่งข้อความไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายรายในพื้นที่ที่กำหนดพร้อมกันได้อย่างทั่วถึงเป็นรายบุคคล เพราะตอนนี้ยังใช้ลักษณะเตือนภัยแบบภาพรวมด้วยการใช้คนออกวิทยุกระจายเสียง ออกหอกระจายข่าว หรือใช้คนวิ่งไปบอก ซึ่งมันไม่ทันการณ์

โดยแต่เดิมตามแผนระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 แต่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าต้องทำให้เร็วที่สุดก่อนแผน ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ในการขอความร่วมมือผู้ให้บริการเครือข่าย AIS True และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12-24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6 -12 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัย และสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ตอนนี้สังคมต้องคุยกันให้ชัดว่าที่ทำอยู่นี้มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หรือการแก้ปัญหาที่จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว ต้องเอาจริงเอาจังกับการเพิ่มจำนวนต้นไม้ เพิ่มจำนวนป่าไม้ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพื้นที่ที่ประสบปัญหารุนแรงส่วนใหญ่จะอยู่พื้นที่ที่อยู่ติดกับเชิงเขา เพราะตอนนี้ภูเขาในทุกภูมิภาคของไทย เราต้องยอมรับสภาพว่า "ต้นไม้ยืนต้นมันหายไปเยอะ" ถูกแปลงจากป่าที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นสวนยาง เป็นไร่ข้าวโพดก็เยอะ เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาภัยอันตรายที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องกระตุ้น ทำให้คนในสังคมช่วยกันให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าไม้ให้มากขึ้นอย่างจริงจัง และอย่างได้ผลจริง ไม่ใช่ว่าระดมกันไปปลูกแล้วก็ทิ้ง ต้นที่ปลูกไว้ก็จะตาย

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในการแก้ไขปัญหาเชิงภูมิประเทศพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ในขณะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน ท่านชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ได้จัดทำเอกสารเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการที่จะนำข้อมูลแต่ละพื้นที่ ทั้งแม่สายและพื้นที่ต่าง ๆ ไปปรับปรุงในเชิงระบบ ซึ่งเมื่อวานนี้ได้เห็นข่าวที่เป็นผลต่อเนื่องหลังจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่แม่สาย ก็คือ ท่านมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานงานไปที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการนำข้อเสนอแนะของนายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย นายอำเภอแม่สาย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปสู่การปฏิบัติโดยทันที เพราะว่าน้ำที่แม่สายต้นทางมาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และแม่น้ำแม่สายเป็นแม่น้ำระหว่างสองประเทศ แสดงให้เห็นว่าบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรีจะนำไปสู่การตั้งโต๊ะนั่งคุยกันว่าประเทศไทยจะช่วยเมียนมาได้อย่างไร ร่วมกันได้อย่างไร และจะพัฒนาพื้นที่ฝั่งไทยตรงเขตแดนระหว่างประเทศได้อย่างไร

...

สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในด้านการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ท่านนายกรัฐมนตรีก็เน้นย้ำให้ช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและเพิ่มเติม top up เข้าไป เพราะตามระเบียบราชการช่วยได้น้อย และช่วงสายวันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินที่ ครม. กำหนดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้นำเสนอเรื่องการบรรเทาความเดือดร้อนค่าไฟและค่าน้ำ ซึ่งที่ประชุมก็ได้เห็นชอบที่จะช่วยเหลือและเยียวยา และในส่วนข้อเสนออื่น ๆ ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ให้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรีเลยว่า ปัญหานี้จะแก้อย่างไร มีแนวทางข้อแนะนำจากพื้นที่อย่างไรให้เสนอมา ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้การแก้ปัญหาตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยการใช้แนวทาง Bottom Up แล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็จะช่วยสนับสนุนในลักษณะ Top Down ระดมกำลังของทุกกระทรวงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป.

...