ปลัด มท.นั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เน้นย้ำต้องสร้างการรับรู้วิธีปฏิบัติตนให้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเกิดภัย พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ และอัปเดตข้อมูลในทุกช่องทางสื่อสาร ปรับปรุงแผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมเสมือนจริงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับ "อย่าประมาทเด็ดขาด"

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการเตรียมความพร้อม รับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยมี นายสุธน ศรีหิรัญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก นายอธิปไตย ไกรราช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก นางเนาวรัตน์ เอกภาพันธ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ 9 อำเภอ นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ สมาชิกสภาท้องถิ่น นางปิ่นเพชร พูลสวัสดิ์ กำนันตำบลหัวรอ ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าร่องความกดอากาศต่ำมีอิทธิพลต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือตอนบนลงมาถึงภาคเหนือตอนกลาง ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน จ.เพชรบูรณ์ ถึง จ.พิษณุโลก ขณะนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด ซึ่งในด้านของการช่วยเหลือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งกำชับให้ยึดถือแนวทางที่ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งแผนการที่จะช่วยเข้าไปบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนกลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สำคัญตอนนี้ที่ขอให้ทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนช่วยกันเตรียมพร้อมเตรียมตัวต่อการเกิดภัยที่อาจมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทั้งการสังเกตสภาพอากาศปริมาณฝนที่ตกหนักมากขึ้น อาจมีน้ำไหลหลากเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ หรือพื้นที่ราบลุ่มที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีต ขอให้รีบเก็บข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งของที่จำเป็นขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด และในขณะเดียวกันด้านระบบป้องกัน ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง อปพร. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเฝ้าระวังรวมไปถึงเตือนภัยต่างๆ ซึ่งหากพี่น้องประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติ สามารถติดต่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร และขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 และสายด่วนนิรภัย ปภ. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ผู้ว่าราชการและรองผู้ว่าฯจังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก บูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่ายปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ในการป้องกันสถานการณ์อุทกภัย ให้ทราบว่าทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไขเพื่อให้เกิดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากอุทกภัย เพราะ จ.พิษณุโลกมีลุ่มน้ำ 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ที่จะส่งผลต่อสถานการณ์อุทกภัย และในห้วงที่ผ่านมาเราก็มีบทเรียนจากสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอให้พวกเราได้เตรียมพร้อมพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้มีความพร้อมแผนทุกอย่าง เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรกล รถอาหาร รถน้ำดื่ม รถให้แสงสว่าง เรือ เครื่องสูบน้ำ ต้องเป็นปัจจุบัน และต้องปรับปรุงแผนให้เป็นปัจจุบัน ต้องฝึกซ้อมสถานการณ์สมมุติเสมือนจริงอย่าประมาทเด็ดขาด

"นอกจากนี้ ขอให้ใช้ช่องทางหอกระจายข่าว และทุกช่องทางสื่อสารสร้างการรับรู้ ทั้งเรื่องพยากรณ์อากาศ เรื่องการช่วยเหลือ เบอร์สายด่วน 1567, 1784, 1669, 191 ทุก ๆ สายด่วน เพื่อที่จะช่วยแจ้งข่าวสาร โดยเฉพาะส่วนสำคัญ คือ วิธีปฏิบัติตนถ้าหากน้ำท่วมต้องทำอย่างไรที่ชาวบ้านจะไม่ถูกไฟช็อต ทำอย่างไรชาวบ้านจะไม่ถูกงูกัด จะไม่ถูกน้ำพัดพา ไม่เป็นโรคจากน้ำ ต้องสื่อสารให้ครอบคลุมทั้งหมด และประการต่อมา ต้องทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยเร็ว และขอเน้นย้ำเรื่องการวางแผนเผชิญเหตุ ซึ่ง "ก่อนเกิดเหตุต้องสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน" เพื่อลบจุดอ่อนที่เราจะต้องปรับปรุง ด้วยการใช้ระบบการสื่อสารอย่างหนักหน่วงและช่วยกันอัปเดตข้อมูลให้กับประชาชน ทั้งหน่วยงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง อย่าให้เกิดเหตุซ้ำเหมือนกับที่ในอดีตที่ผ่านมา และในระยะยาว ต้องส่งเสริมภูมิปัญญาในเรื่องการสร้างบ้านใต้ถุนสูง เพราะเป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่เราต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจและพิจารณาออกกฎระเบียบ/ข้อบังคับว่าพื้นที่ตรงนี้ใต้ถุนต้องสูง เพราะถ้าใต้ถุนไม่สูงมันจะกีดขวางทางน้ำและส่งผลให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมได้" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขอให้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเอาไว้ว่า ต้องหาที่ให้น้ำอยู่ เพื่อที่ในหน้าฝนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำในลักษณะหลุมขนมครก หรือแก้มลิงกระจายอยู่ทั่วไป และการมีหลุมขนมครกในพื้นที่ต้นน้ำไล่ลงมา จะเป็นการช่วยในเรื่องการตัดทางน้ำ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้ได้รับผลกระทบลดน้อยลง รวมทั้งให้นำ "ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map)" ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดทำเชื่อมโยงฐานข้อมูลลุ่มน้ำทั่วทั้งประเทศไทย มาใช้ประโยชน์ ซึ่งในเชิงระบบ พวกเราทั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการปกครอง กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" อย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวถึง การเฝ้าระวังและการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีมาตรการทั้งในด้านการตัดไฟในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม เช่น ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้โทรศัพท์รายงานว่าเมื่อค่ำวานนี้ ได้ทำการตัดไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สาเหตุเพราะว่า มีปริมาณที่เข้าท่วมบ้านเมืองมากกว่า 1 เมตร และได้รับรายงานล่าสุดว่า ระดับน้ำได้ลดลงมากแล้ว คาดว่าภายใน 2 วัน จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ในเรื่องของการส่งกำลังบำรุงดูแลด้านอาหาร หรือ น้ำดื่ม ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับมูลนิธิการกุศล และ ปภ. ตลอดจนถึงมูลนิธิเพื่อน พึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้เข้าไปช่วยกันอย่างเต็มที่จึงขอให้พี่น้องประชาชนผ่อนคลายเบาใจได้ว่า ขณะนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากน้ำจะไหลลงจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และผู้ที่อยู่พื้นที่ภาคกลางติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา หรือว่าลุ่มแม่น้ำต่างๆ ต้องเฝ้าระวังสังเกตระดับน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าหากระดับน้ำที่ใกล้เอ่อล้นตลิ่ง เราต้องช่วยกันแจ้งข่าวสารให้ทุกฝ่ายได้รับทราบและเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที

...

"สำหรับพี่น้องประชาชนทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขณะนี้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขอให้ท่านได้ช่วยกันแจ้งข้อมูลข่าวสารถึงปัญหาและอุปสรรค รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่าในพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทกภัย ยังมีพื้นที่ตกสำรวจ หรือ พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมอยู่ หรือไม่ เนื่องจากในแต่ละจังหวัดมีพื้นที่ที่กว้างขวางและห่างไกล เจ้าหน้าที่อาจจะไม่สามารถสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นต้องขอความร่วมมือทั้งแรงกายและแรงใจพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนบ้าน คนรอบข้างของตนเอง หากพบผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือโปรดโทรแจ้งเบอร์สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือ สายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 หรือแจ้งทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องที่ เพื่อประสานหน่วยงานราชการจะได้ระดมทรัพยากรในการช่วยเหลือต่อไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย