ปล่อย “บะลาโกล” เสือโคร่งคลองลาน สู่ผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็น “เสือข้ามผืนป่าตัวแรก” และนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ติดปลอกคอวิทยุเพื่อติดตาม หวังสร้างอาณาจักร สืบเผ่าพันธุ์เพิ่มจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติ
วันที่ 6 มิถุนายน 2567 เสือโคร่ง “บะลาโกล” ชื่อที่เจ้าหน้าที่ตั้งให้ ขณะติดตามตัว หลังพบเดินอยู่กลางหมู่บ้าน หมู่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 67 ที่ผ่านมา กัดคอลากหมูจากเล้าของชาวบ้านไป 1 ตัว ต่อมาทีม นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ พร้อมด้วย นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ติดตามดักจับได้
...
“บะลาโกล” ซึ่งถูกเรียกเป็น “เสือโคร่งคลองลาน” ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ถูกนำมาพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจโรคติดต่อที่สำคัญ และรักษาอาการบาดเจ็บที่ดวงตาข้างซ้าย จากการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในสัตว์ พบว่าดวงตาข้างซ้ายเป็นต้อและมีอาการอักเสบรุนแรง หากปล่อยไว้อาจมีผลต่อดวงตาอีกข้าง จึงรักษาด้วยการนำลูกตาออก ซึ่งแม้จะมีดวงตาเพียงข้างเดียว เสือโคร่งก็สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้
“บะลาโกล” ได้รับการฟื้นฟูร่างกายจากเจ้าหน้าที่ ให้อาหารที่เหมาะสม คล้ายกับชนิดอาหารในธรรมชาติ เสริมวิตามินที่จำเป็น และมีการฝึกฝนพฤติกรรมให้สามารถดำรงชีวิตในป่าได้ เมื่อร่างกายบะลาโกลเริ่มสมบูรณ์ แผลที่ดวงตาเริ่มดีขึ้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จึงได้วางแผนเพื่อจะปล่อยบะลาโกลสู่ผืนป่าธรรมชาติ
สำหรับสถานที่ปล่อย ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เพื่อคัดเลือกพื้นที่ปล่อยบะลาโกล ผลการประชุมได้เลือก “อุทยานแห่งชาติทับลาน” จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่เป้าหมายในการปล่อย เนื่องจากฐานข้อมูลการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งรายปีในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ทั้งนี้ พื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่มีเสือโคร่ง ยึดเป็นพื้นที่หากิน ซึ่งมีความเหมาะสมต่อตัวสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และมีขนาดพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับเสือโคร่ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่มีประชากรเหยื่อเพียงพอ และเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งอินโดจีนที่มีปริมาณความหนาแน่นต่ำกว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
...
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เห็นชอบเคลื่อนย้ายบะลาโกล จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ไปปล่อยยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567
การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งบะลาโกลไปยังอุทยานแห่งชาติทับลาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) โดยนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้เตรียมความพร้อมเสือโคร่ง โดยการงดอาหาร งดน้ำ เพื่อวางยาสลบ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการทำการติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม 95049 เป็นหมายเลขปลอกคอเพื่อติดตามเส้นทางการดำรงชีวิตของบะลาโกลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน
การเคลื่อนย้ายเริ่มในค่ำคืนของวันที่ 5 มิถุนายน 2567 อย่างเงียบๆ มีรถบรรทุกกรงและรถของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลานและทีมวิจัยฯ ในขบวนอีก 6 คัน ทั้งนี้ เพื่อลดปัจจัยในการทำให้เสือโคร่งเกิดความเครียด ทั้งสภาพอากาศ และปัญหาการจราจรในช่วงเวลากลางวัน ระยะทางการเคลื่อนย้ายบะลาโกลสู่ผืนป่าธรรมชาติ ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง โดยการติดตามของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เมื่อถึงจุดหมายจึงทำการปล่อยบะลาโกลในเวลารุ่งเช้า เวลา 04.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2567 จากนั้นเจ้าหน้าที่ถอยรถที่มีกรงเข้าป่าดึงสลิงเปิดกรง พร้อมๆ กับทีมนักวิจัยได้เตรียมการวางเสบียงไว้ให้เพื่อเป็นทางเลือกระหว่างปรับตัวสำรวจที่อยู่ใหม่แล้ว
พร้อมกันนี้ทางสถานีฯ ได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์กระจายครอบคลุมพื้นที่ 40 ตร.กม. (ตารางกิโลเมตร) เพื่อใช้ในการสอดส่อง และสร้างความมั่นใจในการติดตามเฝ้าระวังเหตุต่างๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน โดยหวังว่า บะลาโกล จะสามารถดำรงชีวิต และสืบเผ่าพันธุ์ เพิ่มจำนวนเสือโคร่งในผืนป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติทับลานต่อไป
...
(ภาพและคลิป สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์)