สภาพอากาศร้อนแล้งส่งแรงกระเพื่อมไปยังสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจอย่างหมู ที่เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายมาตลอดในช่วง 3-4 ปีหลัง จนผู้เลี้ยงรายย่อยจากกว่า 200,000 ราย เหลือแค่ 50,000 กว่าราย

นายสินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จ.ลำพูน ให้ข้อมูลว่า สภาพอากาศที่ร้อนมากในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการนำสุกรเข้าเลี้ยง บางรายลดความเสี่ยงด้วยการลดปริมาณหมูเข้าเลี้ยง ป้องกันปัญหาอากาศร้อน ทำให้หมูเครียดง่าย กินอาหารน้อยลง ส่งผลเติบโตช้า

ขณะเดียวกันช่วงร้อนจัด สัตว์ก็มักอ่อนแอ เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ที่สำคัญมีการติดเชื้อโรคเกิดขึ้นง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดต่ำลง

ซ้ำร้ายในภาวะร้อนแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อย ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และคุณภาพน้ำไม่สะอาด สุ่มเสี่ยงต่อโอกาสในการเกิดโรคท้องร่วงติดต่อในหมู หรือโรค PED ที่พบมากในช่วงฤดูกาลนี้ จนกลายเป็นอีกปัญหาที่สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก

ในรายของผู้เลี้ยงที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากการจัดเตรียมน้ำให้เพียงพอ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้ ตลอดจนบางรายจำต้องแบกต้นทุนจากการซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม จากการลดจำนวนการเลี้ยง เลี้ยงไม่หนาแน่นนี้เอง จะทำให้ปริมาณหมูขุนลดลง จนช่วยกระตุ้นให้ราคาอาจปรับสูงขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

การปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดเช่นนี้ ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเกษตรกรของผู้เลี้ยงหมู ในการยังคงยืนหยัดเลี้ยงกันต่อไป และมั่นใจว่าจะสามารถขายได้ในราคาตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ไม่ต้องเผชิญภาวะขาดทุนสะสมดังเช่นที่ผ่านมา.

...

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม