เสือโคร่งหนุ่มบะลาโกล อยู่ในกรงสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ฟื้นฟูสภาพร่างกายจนแข็งแรง สมบูรณ์ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ตาข้างซ้ายที่เป็นฝ้าบอดสนิทที่ควักออก แผลแห้ง ไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ จนท.เตรียมขออนุมัติอธิบดีกรมอุทยานฯ ปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติที่อช.ทับลาน จ.ปราจีนบุรี
วันที่ 3 เมษายน 2567 จากที่ประชุมคณะกรรมการการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 มีนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมด้วย นายจิระเดช บุญมาก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) มีนายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12
เรื่องพิจารณา การขอปล่อยเสือโคร่ง บะลาโกล คืนสู่ธรรมชาติ มีการชี้แจงถึงสุขภาพ และความพร้อมของเสือโคร่ง บะลาโกล โดยได้มีการตรวจโรคที่สำคัญ ผลการตรวจไม่พบเชื้อ ตาข้างซ้ายที่เป็นฝ้าบอดสนิทที่ควักออก แผลแห้ง ไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ
...
ขณะนี้ เสือโคร่งหนุ่ม ความยาวลำตัวประมาณ 1.60 เมตร สูง 55 เซนติเมตร หางยาว 60 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 105 กิโลกรัม มีร่างกายแข็งแรง พร้อมในการปล่อย ติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง บะลาโกล ซึ่งโดยเฉลี่ยเสือโคร่งหนึ่งตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมในหนึ่งครั้ง ต้องกินเก้งถึง 3 ตัวต่อสัปดาห์จึงจะพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ถ้ากินกวาง 1 ตัวอาจอยู่ได้ทั้งสัปดาห์ ถ้าเป็นกระทิง อาจอยู่ได้โดยไม่ต้องล่าเหยื่ออีกภายใน 2 สัปดาห์
“คณะกรรมการการมีมติเห็นด้วยให้ปล่อยเสือโคร่งลายพาดกลอน ไปเป็นเจ้าป่าที่มีรูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรงแล้ว สามารถหากินเองได้ กลับคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หมู่ 1 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ สำหรับบะลาโกล ซึ่งจะดำเนินการตามระเบียบ โดยการขออนุมัติเห็นชอบการปล่อยเสือโคร่งหนุ่มบะลาโกล จากนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไป”
ลำดับเหตุการณ์ “เสือคลองลาน” ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ เริ่มจากมีเสือโคร่งออกนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร มาเดินกลางถนนในบริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก หมู่ 18 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน สร้างความตื่นตระหนกให้ชาวบ้านเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ต่อมาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่กว่า 60 นายเข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ ที่มีเนื้อที่โดยรอบกว่า 30 ไร่ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ไม่ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ และให้ชาวบ้านออกจากบริเวณพื้นที่ที่พบเสือโคร่งเพื่อความปลอดภัย
จากนั้น ประสานขอนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ เข้าพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินอาการของเสือโคร่ง เพื่อดำเนินการตามหลักวิชาการ โดยจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน หมุนเวรเปลี่ยนกัน จำนวน 60 คน เฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์พื้นที่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ต่อมา มีการวางแผนการดำเนินงาน โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจพื้นที่แบบหน้ากระดานค้นหาเสือโคร่ง จนกระทั่งพบเสือโคร่งนอนเฝ้าซากเหยื่ออยู่ห่างจากบ้านของชาวบ้านประมาณ 100 เมตร เป็นเสือโคร่งวัยรุ่น
ขณะพบเสือโคร่งมีร่างกายซูบผอม คาดว่าอดอาหารมาหลายวัน จึงวางกำลังโอบล้อมในพื้นที่ โดยทีมนายสัตวแพทย์เตรียมความพร้อมการยิงยาสลบ แต่เนื่องจากจุดที่เสือโคร่งอยู่มีสภาพป่ารก จึงไม่สามารถปฏิบัติการได้
กระทั่งเสือกระโจนฝ่าแนววงล้อมของเจ้าหน้าที่ออกไปอย่างรวดเร็วไป จึงต้องมีการปรับแผนการสำรวจแบบหน้ากระดานค้นหาเสือโคร่งติดตามร่องรอยไป เวลาประมาณ 21.50 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 กล้องดักถ่าย (camera trap) จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตก สำนักวิปัสสนากรรมฐานน้ำตกคลองลาน เข้ามากินเหยื่อที่ทางชุดเจ้าหน้าที่ทำการล่อไว้ แล้วติดกับดักที่ขา ที่วางดักไว้ เจ้าหน้าที่ร่วมกับนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ
...
ทีมเฝ้ายิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้สูงบริเวณนั้น ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม ถูกเสือโคร่ง จากนั้นนายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ จึงเข้าทำการฉีดยาเพื่อวางยาสลบ และประสานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน รีบนำร่างเสือโคร่งออกมาจากป่าคลองลาน
เนื่องจากเกรงว่าตัวยาที่ทำให้เสือซึมจะหมดฤทธิ์ จึงได้นำเสือโคร่งขึ้นรถยนต์ ใส่กรงมุ่งหน้าไปยังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ในค่ำคืนนั้น
จากการตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่งเบื้องต้นเป็นเสือโคร่งอายุประมาณ 2 ปี ชื่อ "บะลาโกล" ภาษากะเหรี่ยง แปลว่า คลองลาน น้ำหนักประมาณ 80-90 กิโลกรัม ตาข้างซ้ายบอด มีบาดแผลที่กระจกตา มีบาดแผลขนาดเล็กที่อุ้งเท้าด้านซ้าย เหงือกค่อนข้างซีด (pale pink mucous membrane) สภาพผอม (body condition score 2-2.5) สัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และยาถ่ายพยาธิ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรง
ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือน มีการประชุมเตรียมความพร้อมและขั้นตอนในการปล่อยเสือโคร่ง “บะลาโกล” คืนสู่ธรรมชาติโดยมีนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมด้วยนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ นายจิระเดช บุญมาก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ได้ร่วมประชุมหารือ จนกระทั่งได้เวลาปล่อยเสือเข้าป่าต่อไป