ตั้งแต่ปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้กับชาวไทยภูเขา ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้านการเกษตรที่เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานไปแล้ว 68,750 ราย ส่งเสริมการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเมืองหนาว พืชผักเมืองหนาว เกษตรผสมผสาน 9,091 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว 104 ไร่ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 556 กลุ่ม และส่งเสริมการสร้างเกษตรกรต้นแบบ 264 ราย

ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ โดยมีการผลิตพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่เกษตรของตัวเอง

ทำให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ ทำให้สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการทำการเกษตร มีแปลงไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอก พืชผักเมืองหนาว และพืชสมุนไพรในพื้นที่ กลายเป็นแหล่งกระจายพืชพันธุ์ดี มีเกษตรกรต้นแบบในการขยายผลไปสู่ชุมชน

อีกทั้งยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีในการร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับระบบการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

นายหม่อคา กมลลักษณ์พงศ์ เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบเกษตรผสมผสาน ที่ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาทำเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เริ่มจากการปลูกพืชผัก กล้วย ข้าว และพืชผักที่ปลูกหมุนเวียนกัน รวมทั้งปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และจำหน่ายกล้าหญ้าแฝกให้กรมพัฒนาที่ดิน รวมรายได้เฉลี่ยปีละ 150,000 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดในภาพรวมเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ยังจำหน่ายข้าว พืชผัก กล้วย ถั่วแดง ถั่วดำ และสุกร

...

และมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนภายในแปลง โดยทำปุ๋ยหมักจากกากถั่วแดง และนำมูลขี้ไก่ที่เลี้ยงไว้มาใช้ในแปลงข้าว แปลงพืชผัก ใช้แหนแดงเป็นอาหารสุกรและปลา ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยปีละ 6,000 บาท จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรต้นแบบในปี 2564 และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจ.

สะ–เล–เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม