เคยมีประโยคที่ว่า “เกษตรกรไทยมักเกิดมาพร้อมกับหนี้สิน” หลายหน่วยงานใช้เวลาแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกรมาหลายปีดีดัก แต่หลายปัจจัย โดยเฉพาะความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ ความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น แต่กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ต.ท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย เป็นอีกตัวอย่างที่แก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด หรือเกาถูกที่คัน ทำให้เวลาเพียง 3 ปี เกษตรกรปลดหนี้ 100%
“พื้นที่แถบนี้มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงแห้งแล้งกันดารขาดแหล่งน้ำ ชาวบ้านเลยมีทางเลือกเดียวคือปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ใช้น้ำน้อยเป็นอาชีพหลัก อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา แต่ทว่าปัญหาหนี้สินก็พอกพูนขึ้นทุกวัน จนปี 2563 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการสนับสนุนขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกสหกรณ์ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากนั้นชาวบ้านมีการหารือร่วมกับทีมงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่าจะส่งเสริมอาชีพปลูกกุหลาบตัดดอกให้กับสมาชิก เนื่องจากเหมาะกับสภาพพื้นที่ ปลูกง่าย โรคแมลงรบกวนน้อย ที่สำคัญความต้องการของตลาดสูงมาก จึงเกิดแปลงนำร่องปลูกกุหลาบตัดดอกสายพันธุ์ฮอลแลนด์และฮังการีของ นายอัศวิน ศรีบุรินทร์ เลขานุการกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา บนเนื้อที่ 4 ไร่ ไร่ละ 1,000 ต้น เมื่อปลายปี 2563”
...
นางสาววิไลพร พานกระดึง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย เล่าถึงการเริ่มต้นปลูกกุหลาบตัดดอกของสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา ต.ท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อปี 2563...ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม ทั้งสภาพพื้นที่และภูมิอากาศและเป็นไม้ดอกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ให้ผลตอบแทนเร็ว อายุการเก็บเกี่ยวยาวนานถึง 5 ปี สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี จึงได้ปรึกษาทางเกษตรจังหวัดและเกษตรที่สูงและผู้มีความรู้ ต่างเห็นตรงกันว่าไม้ดอกชนิดนี้น่าจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพื้นที่นี้ยังไม่มีใครปลูกมาก่อน มีก็เพียงกุหลาบหนู ที่จำหน่ายทั้งต้นทั้งดอกเท่านั้น
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย บอกต่อไปว่า กุหลาบตัดดอกส่วนใหญ่จะมีแต่โซนภาคเหนือ ที่อำเภอภูเรือแห่งนี้จึงเป็นกลุ่มแรกในพื้นที่แถบนี้ ที่ปลูกกุหลาบตัดดอกขาย ส่วนการตลาดก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก มีทั้งพ่อค้ารับซื้อไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ และจากจังหวัดใหญ่ อย่าง อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย จะมีออเดอร์แจ้งมาก่อน ได้ราคาเฉลี่ยดอกละ 2-5 บาท
ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดดอกทุกวันมีรายได้เฉลี่ยวันละ 5,000-20,000 บาท และมีออเดอร์ล้นจนไม่พอขาย
“กุหลาบเราไม่ต้องกลัวราคาตก เพราะสามารถนำมาแปรรูปขายได้หลากหลาย ขณะที่กุหลาบตกเกรดก็นำมาแปรรูปเป็นถุงหอม เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันเลยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกระทรวงเกษตรฯเอง และหน่วยงานภายนอก ถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มเติม เพราะขณะนี้สมาชิกเกษตรกรในพื้นที่เห็นแล้วว่า ปลูกกุหลาบตัดดอกสามารถปลดหนี้ได้จริง และในอนาคตจะพัฒนาเป็นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวนดอกกุหลาบ ถ่ายรูปเช็กอิน สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนด้วย”
...
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมอาชีพการปลูกกุหลาบให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลยนั้น เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกเป็นเป้าหมายหลัก โดยในปี 2564 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 31 ราย รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 844,522 บาท ทำให้สมาชิกมีรายได้สามารถส่งชำระหนี้ได้จำนวน 15 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาได้ และยังมีรายได้ มีเงินออมเพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้นในปี 2565 มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 16 ราย เป็นเงิน 1.85 แสนบาท และในปี 2566 ที่ผ่านมา เหลือลูกหนี้ที่ผิดชำระหนี้เพียง 4 ราย เป็นเงิน 2.5 แสนบาท จนปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาสามารถเก็บหนี้ค้างชำระได้เต็มจำนวน คิดเป็นร้อยละ 100 ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด
...
ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรบ้านท่าศาลาได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเลย ส่งสมัครเข้ารับรางวัลการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จนในโครงการรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
กรวัฒน์ วีนิล
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม