ผู้เช่าร้อง วัดป่าเป้า กลางเมืองเชียงใหม่ ขูดรีดเงินขึ้นค่าเช่าร้านค้าปลูกสร้างในธรณีสงฆ์ หรือ "ที่วัด" จากเดือนละ 1,500 เป็น 17,000 บาท เรียกเงินกินเปล่าล่วงหน้าอีก 5 แสน รับไม่ได้แพงเกินไป พร้อมเผยช่วง 2 ปีล่าสุดโอนจ่ายค่าเช่าเข้าบัญชีเจ้าอาวาสโดยตรง ขณะที่ทางวัดส่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสเจรจาแทน อ้างเจ้าอาวาสอาพาธ


จากกรณีชาวบ้านริมถนนมณีนพรัตน์ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นร้านจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า รวม 23 คูหา ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ที่อยู่ในความดูแลของวัดป่าเป้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าเช่า โดยการอนุญาตของทางวัดได้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 15 ปี ค่าเช่าเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้น และปีต่อมา พ.ศ. 2552 พระอินตา อินทวีโร เจ้าอาวาสวัด ได้ทำสัญญาเช่าขึ้นมาใหม่ อายุสัญญา 15 ปี ขึ้นค่าเช่าเป็น 1,500 บาท พร้อมกับให้ผู้เช่าทุกคูหาจ่ายเงินกินเปล่าคูหาละ 500,000 บาท เป็นเงินก้อนค่าแป๊ะเจี๊ยะ โดยอนุโลมให้ผ่อนชำระได้ภายใน 1 ปี ส่วนการก่อสร้าง ชาวบ้านต้องจ่ายค่าก่อสร้างเองทั้งหมด ล่าสุดสัญญาจะครบในเดือนมีนาคม 2567 


ทางวัดได้ส่งทนายความมาสำรวจพื้นที่ พร้อมกับยื่นสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้ โดยระบุว่า สัญญาฉบับใหม่ไม่ต้องจ่ายเงินกินเปล่า แต่ขึ้นค่าเช่าจากเดือนละ 1,500 บาท เป็น 17,000 บาท พร้อมกับต้องจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นการขึ้นราคาที่มากเกินไป สร้างความเดือดร้อน เพราะการค้าขายก็ไม่ได้กำไร


ล่าสุดเวลา 14.00 น. วันที่ 28 ก.พ. 2567 นายปรีชา ขันธนา ประธานชุมชนวัดป่าเป้า เดินทางมารับเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน พร้อมได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยัง พระมหาอนุพันธ์ อภิวัฑฒโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเป้า เพื่อมาเจรจากับชาวบ้านเพื่อหาทางออกไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะค่าเช่าที่จะเก็บนั้นแพงเกินจริง ขอเรียกร้องให้ทาง พระมหาอนุพันธ์ เป็นคนกลางช่วยเจรจาให้หน่อย โดยชาวบ้านมีข้อเรียกร้องดังนี้ ขอค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ต่อสัญญา 15 ปี ดังเดิม ทางผู้เช่าขอเสียภาษีโรงเรือนเอง และอยากจะให้ทางวัดชี้แจงรายรับรายจ่ายย้อนหลังของวัด 10 ปี 

...

พระมหาอนุพันธ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าเป้า บอกว่า เข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านและยอมรับว่าไม่ทราบเหตุผลที่มีการปรับขึ้นค่าเช่าในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าทางวัดต้องการงบประมาณไปดำเนินการในเรื่องใด เพราะแม้ว่าตนเองจะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส แต่ในระยะหลังไม่ได้อยู่วัด แต่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลสำนักสงฆ์ที่อำเภอสารภี ทำให้ไม่ทราบเรื่องมาก่อน 

โดยข้อเสนอของชาวบ้านก็พร้อมจะเป็นตัวกลางรับไปนมัสการเรียนแจ้งให้กับทางเจ้าอาวาสได้ทราบ ขอให้ชาวบ้านรอไปก่อน ยังไม่ต้องเข้าไปรวมตัวกันในวัด เนื่องจากตอนนี้เจ้าอาวาสอาพาธอยู่ เมื่อทางเจ้าอาวาสตัดสินใจอย่างไร จะนำมาแจ้งให้กับชาวบ้านได้ทราบ คาดว่าจะใช้เวลาไม่กี่วันจะได้คำตอบ 

 

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน ได้ตั้งคำถามถึงการบริหารเงินรายได้ของวัด หลังจากเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาทางวัดให้ผู้เช่า โอนจ่ายค่าเช่าเข้าบัญชีของเจ้าอาวาสโดยตรง ทั้งที่หลายปีก่อนหน้านี้จะโอนผ่านบัญชีที่มีไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัดดูแล โดยได้เรียกร้องผ่านพระมหาอนุพันธ์ ขอให้เจ้าอาวาสได้ชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดเพื่อความโปร่งใส เพราะเงินรายได้ถือเป็นเงินส่วนรวมของวัดที่ศรัทธาวบ้านจะต้องรับรู้รับทราบ รวมทั้งขอให้ตั้งคณะกรรมการวัดที่มีตัวแทนชาวบ้านในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม เข้ามาดูแลบัญชีเพื่อความถูกต้องเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ 

หนึ่งในเจ้าของร้านค้าที่เช่าที่ธรณีสงฆ์ของทางวัด บอกว่าครอบครัวของตนเองเช่าที่นี้มานานเกือบ 50 ปีแล้ว เปิดร้านค้าขาย ทำสัญญาเช่ากับทางวัดตั้งแต่ปี 2518 จ่ายเงินกินเปล่า 15 ปี ครั้งละ 500,000 บาท ตอนนี้จ่ายมาแล้ว 2 ครั้ง ปกติค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท ขอปรับขึ้นทีเดียวหลายเท่า เป็น 17,000 บาทต่อเดือน ขอเจรจากับเจ้าอาวาสมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ยอมเจรจา จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำคณะสงฆ์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาหาทางช่วยเหลือด้วย เพราะว่าบางร้านสัญญาก็จะหมดในวันพรุ่งนี้ (29 ก.พ. 67) แล้ว "ยุคนี้เศรษฐกิจไม่ดี ขายของก็ไม่ค่อยได้ มาปรับค่าเช่าแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนหนัก จะหาเงินมาจากไหน ถ้าหากต้องการขึ้น ทางผู้ประกอบการพร้อมปรับขึ้นให้ แต่ต้องสมเหตุสมผล ไม่พุ่งพรวดแบบนี้ ทำให้เดือดร้อนกันทั่วหน้า" 


ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูล พบว่าพื้นที่ธรณีสงฆ์ในความดูแลของวัดป่าเป้า เป็นพื้นที่โดยรอบที่ตั้งวัด รวมทั้งหมด 62 แปลง แบ่งเป็นพื้นที่หน้าวัด ติดถนนมณีนพรัตน์จำนวน 15 แปลง พื้นที่ส่วนนี้เป็นอาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านค้า และที่ดินด้านข้างและหลังวัดอีก 47 แปลง  เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทั้งหมดนี้มีเพียงแปลงเดียวที่ไม่มีผู้เช่า 


จากการสอบถามไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับรายงานเบื้องต้นแล้วและนางอารีย์ พันธุ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่  ติดราชการ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง 


สำหรับที่ดินสงฆ์ โดยหลักแล้ววัดซึ่งเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสจะมีอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน โดยที่สำนักงานพระพุทธศาสนาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง