ต้นฉบับของผมวันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านกาแฟ “ดอยตุง” หน้าพระตำหนักดอยตุง หมู่ที่ 7 บ้านมูเซอลาบา ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย...เมื่อบ่ายแก่ๆของวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ไปเชียงรายทุกครั้งถ้ามีโอกาสผมจะต้องแวะไปที่พระตำหนักดอยตุงอยู่เสมอๆ...ถ้ามีเวลาพอก็จะแวะขึ้นชมพระตำหนักอันเป็นทั้งที่ประทับและที่ “ทรงงาน” ที่เกี่ยวกับ “โครงการพัฒนาดอยตุง” รวมไปถึงโครงการในพระราชดำริอื่นๆของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย
ผมมาที่นี่ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อสร้าง เพื่อถวายแด่สมเด็จย่าในช่วง พ.ศ.2530 ต้นๆ ซึ่งยังเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาลเข้มอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหัวโล้นในบริเวณนี้ แผ่กว้างยาวไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา
ช่วงนั้นเพื่อนรักของผมจากสภาพัฒน์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ซึ่งลาออกจากราชการมาถวายงานสมเด็จย่าโดยตรง จะต้องเดินทางมาควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักที่นี่ ในขณะที่ผมในฐานะนักพัฒนาชนบทของสภาพัฒน์ที่ต้องตระเวนมา ณ บริเวณนี้ จึงมีโอกาสได้เจอกันและคุยกันบ่อยครั้ง ทำให้ทราบว่า กว่าพระตำหนักหลังนี้จะแล้วเสร็จ และกว่าโครงการพัฒนาดอยตุงจะบรรลุผลสำเร็จเช่นทุกวันนี้...ไม่ใช่เรื่องง่ายๆแต่อย่างใดเลย
ไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ภูเขาอันกว้างใหญ่ไพศาลจะถูกทำลายเกลี้ยงจนแทบไม่เหลือต้นไม้ให้เห็น และกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มอย่างที่กล่าวถึงในย่อหน้าก่อนนี้เท่านั้น ณ บริเวณนี้ยังเป็นที่รวมและที่เดินทางผ่านของกลุ่มปลูกพืชยาเสพติดที่อยู่เลยไปไม่ไกลนัก และเป็นเส้นทางขนยาเสพติดที่สำคัญเส้นทางหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย
บุคลากรรุ่นแรกๆที่มาบุกเบิกโครงการนี้ จึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคุณชายดิศนัดดา เคยบอกกับผมว่า เวลามานอนที่นี่...ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่า หลับคืนนี้ พรุ่งนี้จะตื่นหรือไม่
...
แม้จะสุ่มเสี่ยงเช่นนั้น แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงของเราก็ยังเสด็จฯมาประทับค้างแรม ทั้งเพื่อทรงงานและเพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่มาทำงานบุกเบิกอย่างไม่ขาดสาย
เนื่องด้วยทุกพระองค์ล้วนมีพระราชปณิธานเดียวกันในการที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรในเขตพื้นที่นี้ ซึ่งเผชิญทั้งปัญหา “ความอดอยาก ความเจ็บไข้ และความไม่รู้” ให้สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
มิเพียงสมเด็จย่าเท่านั้นที่เสด็จฯมาให้กำลังใจและทรงงานที่บริเวณนี้ปีละหลายๆครั้ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และพระโอรส พระธิดาของท่านทุกพระองค์ก็เสด็จฯมาอยู่เนืองๆ
โดยเฉพาะ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไม่เพียงแต่จะเสด็จฯมาช่วยทรงงานเท่านั้น ยังทรงถือว่าบริเวณป่าแห่งนี้คือแหล่งเรียนรู้ในการที่จะฟื้นฟู... อนุรักษ์...และพัฒนาอาชีพให้แก่ผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงป่า ให้รู้จักประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับป่าและดูแลป่าได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ต่อมาเมื่อสมเด็จย่าเสด็จสู่สรวงสวรรค์แล้ว พระราชกรณียกิจในโครงการพัฒนาดอยตุงเกือบทั้งหมดของพระองค์ท่านก็ตกทอดมาถึง สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเข้ารับช่วงอย่างเต็มพระราชหฤทัย
ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของ คณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นับตั้งแต่ พ.ศ.2538 มาจนถึงปัจจุบัน และก็ดังที่เราทราบ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นั้นได้เข้ามาช่วยดูแลการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันเกิดจากโครงการพัฒนาดอยตุงหลายต่อหลายผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่แรกเริ่ม
รวมทั้งกาแฟแบรนด์ “ดอยตุง” ที่ร้านต้นธารหน้าพระตำหนักดอยตุงที่ผมไปนั่งจิบเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่แล้ว
ต้องยอมรับว่าเป็นกาแฟแก้วที่ผมจิบอย่างมีความสุขอย่างหาที่สุดมิได้แก้วหนึ่งในชีวิต เพราะดื่มจากร้านที่มองเห็นความเขียวชอุ่มของต้นไม้ในบริเวณภูเขาเหล่านี้...มิใช่เขาหัวโล้นดังเมื่อ 30 ปีก่อน
ขณะเดียวกันก็ทราบด้วยว่าพี่น้องชาวไทยภูเขาในแถบถิ่นนี้ล้วนอยู่ดีมีสุข หลุดพ้นจากปัญหาความยากจนแล้วทั้งสิ้น
ก่อนลงจากพระตำหนักดอยตุง เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมได้ยกมือขึ้นประนมไหว้พระตำหนักอีกครั้ง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกๆ พระองค์ที่ทรงริเริ่มโครงการพัฒนา “ฟ้าสู่ดิน” ต่างๆ ซึ่งผมมั่นใจว่าน่าจะมีในประเทศไทยของเราเพียงประเทศเดียว.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม