สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด (พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน) พบว่า มีผู้ใช้ประโยชน์จากฟ่างข้าว 3 กลุ่ม
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางข้าวจำหน่ายให้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ ร้อยละ 54.97 และจำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชน ร้อยละ 16.87 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 28.16 จะจ้างกลุ่มแปลงใหญ่ที่ตนเองเป็นสมาชิก ดำเนินการอัดเป็นฟางก้อน เพื่อจำหน่ายและใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเอง
เกษตรกรที่จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 510.77 บาท/ไร่/รอบการผลิต
กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว แบ่งเป็น กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว จะรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกรสมาชิก โดยจะดำเนินการอัดฟางก้อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8-10 บาท/ก้อน จากนั้นจะนำไปจัดเก็บไว้ที่โกดังของกลุ่มเพื่อรอจำหน่ายต่อ ส่วนผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชน จะรับซื้อฟางข้าวแบบเหมาไร่ ในราคา 20-100 บาท/ไร่ และรับซื้อโดยการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรตามจำนวนก้อนฟาง ในราคา 2-10 บาท/ก้อน
กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางอัดก้อนไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยใช้ร่วมกับพืชอาหารสัตว์ หรืออาหาร TMR สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ โคเนื้อเฉลี่ย 8.59 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 29) และโคนมเฉลี่ย 49.50 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 69) และมีบางส่วนที่นำไปใช้เป็นวัสดุคลุมแปลงพืชผักทดแทนพลาสติก สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 480 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 53) และเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดทดแทนขี้เลื่อย สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 9 บาท/ก้อน/ปี (ลดลงร้อยละ 52)
สำหรับแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ 5 จังหวัด ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาช่องทางการเชื่อมโยงความต้องการของตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม และผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น และให้ผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงสินค้าฟางข้าวได้สะดวกรวดเร็ว และภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงเรือน/โกดัง ที่ใช้ในการจัดเก็บฟางข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร.
...
สะ–เล–เต