น.ส.อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ว่า ในทางวิศวกรรมการก่อสร้าง ขณะนี้เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว เราไม่ได้ห่วงในจุดนี้ แต่ที่กังวลคือ หากโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงแล้วเสร็จ ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวจะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่าลืมว่าอุทยานฯเป็นบ้านของสัตว์ป่า จะทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าไปรบกวนสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล อุทยานฯภูกระดึงและหลายอุทยานฯมีปัญหา มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนมากและเกิดปัญหาทั้งในเรื่องขยะและปัญหาอื่นๆตามมา

น.ส.อรยุพากล่าวต่อว่า ที่สำคัญการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะจบแค่เพียงกระเช้าไฟฟ้าจริงหรือไม่และรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆให้กับนักท่องเที่ยวตามมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศบนภูกระดึงที่เป็นพื้นที่เฉพาะ มีระบบนิเวศเปราะบางทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก จึงต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ อุทยานฯภูกระดึงเปิดรับนักท่องเที่ยว 8 เดือน และปิดการท่องเที่ยว 4 เดือนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ แต่หากมีการก่อสร้างกระเช้าแล้วจะมีการเปิดให้ท่องเที่ยวเข้าได้ตลอดทั้งปีเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องชั่งน้ำหนักใน เรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนกับธรรมชาติที่จะได้รับผลกระทบว่าอะไรจะคุ้มค่ามากกว่ากัน เพราะหลายๆครั้ง เราพบว่ากระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไออี) ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ จนสร้างปัญหาตามมาในภายหลัง ซึ่งมูลนิธิสืบฯจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่