รัฐบาลรับมือเปิด “ฟรีวีซ่า” อย่างเดียวคงไม่พอถึงต้องเตรียมพัฒนาสนามบินภูเก็ตและกระบี่ แล้วสร้างสนามบินใหม่พังงากับหนุนโครงการสร้างทางพิเศษภูเก็ตสู่ป่าตอง-กะทู้ เพื่อต่อยอดโลจิสติกส์เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันให้มีออร่ายิ่งขึ้น
ส่วน “ภาคเหนือ” ก็วางแผนขยายท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ให้สมดุลกับเที่ยวบินในและนอกประเทศที่แออัดทั้งคนและเครื่องบินโดยสาร
ล่าสุด...เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน คิกออฟตัดริบบิ้นขยายเวลาหายใจ แบบควิกวิน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยยกสนามบินศรีนครพิงค์เปิดบริการ 24 ชั่วโมงทั้งวันทั้งคืน
นัยว่า...ตามความต้องการเพิ่มนักท่องเที่ยว และสปรินต์ให้ทันคู่แข่งด้านการบินพาณิชย์ระดับนานาชาติ
สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการ ททท. ด้านตลาดในประเทศ มืออาชีพตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่ในทศวรรษนี้ บอกว่า การส่งเสริมท่องเที่ยวไทยกว่าครึ่งศตวรรษ การขนส่งทางอากาศคือกุญแจดอกสำคัญไขไปสู่ความสำเร็จ ช่วยย่อโลกให้แคบลงจนมนุษย์สามารถเดินทางจากถิ่นพำนักถาวรไปสู่มุมโลกต่างๆได้ด้วย
...
จุดประสงค์เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนและหาประสบการณ์รับเทรนด์ใหม่ๆในรูปเวิร์กเคชันที่กำลังนิยมกันในเวลานี้
“การขนส่งโดยสารผ่านน่านฟ้ายังเป็นหัวใจในการกำหนดแผนนโยบายส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว สามารถบรรจุเป็นฐานข้อมูลหาจำนวนผู้โดยสารคือนักท่องเที่ยวต่อเที่ยวบิน โดยอาศัยความถี่ของตารางบินเป็นปัจจัยหนุน”
ถ้าการขนส่งทางอากาศไม่อำนวยก็ยากจะขับเคลื่อนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามที่หวัง เพราะการเดินทางโดยวิธีนี้สะดวกรวดเร็วสำหรับการท่องเที่ยวแต่ละทริป
สมฤดียอมรับแม้ตนจะมิใช่นักบุกเบิกอุตสาหกรรมแขนงนี้เมื่อ 63 ปีก่อน แต่จากการศึกษาและผูกพันมาค่อนชีวิต ทำให้รู้ว่าพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านเราจะเรียกว่าเริ่มต้นจากเลข “ศูนย์” ก็ว่าได้ โดยมุ่งเป้าไปที่รายได้จากเงินตราสกุลต่างประเทศ แต่ไม่ลืมส่งเสริมคนไทยให้ท่องเที่ยวกันเองภายในประเทศ
...ชะลอการทัวริ่งต่างประเทศ เพื่อลดดุลป้องกันการสูญเสียเงินบาท
“ปี 2503” เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงหยิบมือเดียว 81,340 คน ปีต่อมาไม่น่าเชื่อเพิ่มขึ้น 32.4% เป็น 107,754 คน จากนั้นโตเรื่อยมา พลตรี เฉลิมชัย (ยศขณะนั้น) จารุวัสตร์ ผู้อำนวยการ อสท.คนแรก จึงทำการศึกษาลู่ทางสายการบินนานาชาติที่เดินทางสู่ไทย
พบว่าเรานี่แหละ...คือศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ขณะนั้น ที่จะบินเชื่อมไปยังยุโรป อินเดีย ฮ่องกง โตเกียว ประกอบกับอดีตเชียงใหม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทย แต่ไม่อยู่ในสายตาต่างประเทศ
พลตรีเฉลิมชัยจึงคิดผลักดันให้เวียงแห่งนี้เติบโตเป็นฮับท่องเที่ยวนานาชาติแห่งที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ โดยปี 2512 ลงทุนไปบิดชนะการรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ประจำปีสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (พาต้า) มีประเทศสมาชิกมาร่วมประชุมมากมาย จนได้ข้อสรุป 1 ใน 19 ข้อที่ว่า...
“เชียงใหม่” เป็นเมืองที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวนานาชาติสูง ก่อนอื่นควรยกสนามบินท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต
“เชียงใหม่” มีสนามบินเก่าชื่อสุเทพ สร้างปี 2464 เปิดใช้งาน ปี 2466 ภายใต้การดูแลโดยกระทรวงกลาโหม ต่อมาปรับเป็นฐานบินและกองบิน 4 ฝูงบิน 41 แล้วใช้เป็นสนามบินพาณิชย์ของกรมการบินพาณิชย์ไปด้วย สมัยนั้นใช้เครื่องดาโคต้า ดีซี 3 บินดอนเมืองกับเชียงใหม่ในนามบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด
...
...ธุรกิจลูกในสายการบินแห่งชาติ จากนั้นเปลี่ยนเป็นเครื่องบินใบพัด 2 เครื่องยนต์แบบแอฟโร่ 748 ไม่กี่สิบที่นั่ง บินดอนเมืองกับเชียงใหม่ด้วยเวลาร่วม 2 ชั่วโมง กับใช้เครื่องชอร์ท 330 ขนาด 20 ที่นั่งบินเชียงใหม่เชื่อมแม่ฮ่องสอน
วันเวลาผ่านมาถึง “ปี 2516” ตัวเลขนักท่องเที่ยวเริ่มล้านแล้วจ้า! ...คือ 1,037,737 คน เพิ่ม 26.4% จากปีก่อนหน้า แต่ข้อสรุปของพาต้าเมื่อปี 2512 เรื่องการขยายสนามบินที่เสนอให้รัฐบาลสมัยนั้นพิจารณากลับถูกดองเงียบ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่จึงลุกขึ้นมารณรงค์ทำสติกเกอร์โปสเตอร์...
ระดมติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองเรียกร้องให้ “เชียงใหม่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ” เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังดีวันดีคืน
แล้วก็มาสมหวังเอาเมื่อปี 2525 เริ่มลงมือขยับขยายรันเวย์จาก 2 พันเมตร เป็น 3 พันเมตร รับโบอิ้ง 737 ขนาด 120 ที่นั่งถึงโบอิ้ง 747 ขนาด 220 ที่นั่ง และโบอิ้ง 777 ขนาด 400 ที่นั่ง กับแอร์บัสขนาดใกล้เคียงกันจนสำเร็จ เป็น “ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่” ภูธรแห่งแรกของไทย
...
สังกัดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ก่อนมีภูเก็ตและหาดใหญ่ตามมาภายหลัง
“นับเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมท่องเที่ยวเชียงใหม่ให้เดินต่อไปได้อย่างงดงาม จนเป็นที่กล่าวขานถึงในตลาดทั่วโลก รวมถึงคนไทยต่างให้ความนิยมไม่แพ้กัน” สมฤดี ว่า “เมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาดมีนักท่องเที่ยวหลงเสน่ห์เลือกไปแอ่วเชียงใหม่ 18.82 ล้านคน”
...เป็นคนไทยและต่างชาติพำนักในไทย 7.44 ล้านคน/ครั้ง ต่างชาติ 3.37 ล้านคน สัดส่วน 70 : 30 สร้างรายได้รวม 2 ตลาด 1.09 แสนล้านบาท
สองปีต่อมาเมื่อโควิดจางหายไปบ้าง 10 เดือนแรกของปีนี้ เชียงใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัว 7.68 ล้านคน เป็นคนไทยกับต่างชาติพำนักในไทย 5.58 ล้านคน/ครั้ง ต่างชาติ 2.09 ล้านคน สัดส่วน 80 : 20 มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ 6.37 หมื่นล้านบาท
...
คาดว่า...รายได้ตลอดปีนี้ราว 80% จากปี 2562
พลิกแฟ้มเปิดข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางสู่เชียงใหม่ในวันนี้...นำโด่ง 10 เดือนแรกปีนี้คือ จีน 1.69 แสนคน รองลงมาเกาหลีใต้ 1.43 แสนคน ไทย 9.48 หมื่นคน และไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย อเมริกา สิงคโปร์ เวียดนาม ผู้ดีอังกฤษ ตามลำดับ
สรุปได้ว่า...“การคิกออฟเชียงใหม่เป็นท่าอากาศยานบริการตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เพื่อควิกวินนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ทำให้เชียงใหม่มีเที่ยวบินขึ้นลงหลังเที่ยงคืนเหมือนหลายๆประเทศนิยมทำกัน มิตินี้จะเป็นช่องทางโอเพ่นสกายโพลิซีขานรับท่องเที่ยวนับแต่ปลายปีนี้สู่อนาคต”
“...จากจำนวนเที่ยวบินในและนอกประเทศ 150 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเฉลี่ย 21,537 คนต่อวัน เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง ในประเทศ 12 เส้นทาง รับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี”
แล้วนั่นแหละ...อนาคต “ท่องเที่ยวไทย” ถึงจะสดใสเป็นรูปธรรม มากกว่าการวาดฝันปั้นแต่งในแต่ละวันเหมือนอย่างที่ผ่านๆมาเสียที.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม