เดินหน้าปรับปรุงศาลากลาง จ.น่าน หลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ล่าสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานนำภาคีเครือข่ายประกอบพิธีกรรมล้านนาโครงการปรับปรุงอาคารสถานที่

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ได้เป็นประธานประกอบพิธีกรรมล้านนาโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลาง จ.น่าน หลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดยมีพระราชศาสนาภิบาล เจ้าคณะจังหวัดน่านและเจ้าอาวาสวัดพญาภู พระอารามหลวง เป็นประธานสงฆ์ พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติ เช่น นายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย สส.สว. ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เข้าร่วม   

ทั้งนี้ ศาลากลาง จ.น่านหลังเก่า สร้างเมื่อปี 2511 ตั้งอยู่บน ถ.สุริยพงษ์ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เป็นสถานที่ทำงานของส่วนราชการหลายหน่วยงาน สร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ ตัวอาคารเป็นทรัพย์สินสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน รวมทั้งประกาศพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมของชาติ ปี 2558 จ.น่าน ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทฯ คือ ย้ายศาลากลาง จ.น่าน ไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ ต.ไชยสถาน อ.เมืองน่าน เพื่อลดความแออัดในพื้นที่เมืองเก่าน่าน โดยภายหลังจากย้ายศาลากลางไปยังที่ตั้งใหม่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ศาลากลางหลังเก่าจนทุกวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มองเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของมูลนิธิรักษ์ป่าน่านจึงได้เชิญให้มาเป็นผู้สนับสนุน และดำเนินการบริหารจัดการโครงการเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก

...

"ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 มีมติเห็นชอบในหลักการให้มูลนิธิรักษ์ป่าน่านในพระราชูปถัมภ์ฯ ปรับปรุงศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ต่อมาในวันที่ 11 ก.ค.2565 ที่ประชุมเห็นชอบรูปแบบรายการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และให้นำเรื่องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 4 ครั้ง โดยมีประชาชนเห็นด้วย 92% ไม่เห็นด้วย 1% ไม่แสดงความเห็น 7% จากนั้น วันที่ 7 ธ.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ามีมติรับทราบและเห็นชอบหลักการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านที่เห็นชอบโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ได้เสนอโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก จึงได้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนับสนุนโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2566 โดยเมื่อการปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ จะไม่เก็บค่าบริการเยี่ยมชม ค่าตั๋วเข้าชมนิทรรศการ ค่าทำกิจกรรม หรือเงินตอบแทนต่างๆ จากประชาชนผู้รับบริการ" นายสุทธิพงษ์ กล่าว และว่า 

ภายหลังปรับปรุงอาคารตามโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นน 405 (บางส่วน) ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน มีเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา แล้วเสร็จ อาคารใหม่ของโครงการประกอบด้วย 1. หอศิลปวัฒนธรรม 2. อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ 3. อาคารบริการ 4. สวนพฤกษศาสตร์ และ 5. ลานกิจกรรม โดยภายในอาคารจะมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนต้นทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดปัญญาของบรรพชน และพื้นที่ศูนย์สร้างสรรค์ทางปัญญา NAN'S CREATIVE CENTER ได้แก่ พื้นที่เรียนรู้โดยสื่อดิจิทัล ลานเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก ลานกิจกรรมสัมมนา ห้องประชุมสำหรับทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม และห้องสมุดดิจิทัล โดยเรามีเป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า โครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกแห่งนี้ จะเป็นสถานที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของพี่น้องประชาชน จ.น่าน และเป็นสถานที่อันจะเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่สำคัญของประเทศไทย อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด รากเหง้าความเป็นไทย ความเป็นชนชาติไทย ที่ได้รับการแบ่งเบาพระราชภาระโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาว จ.น่าน ซึ่งภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและเป็นต้นแบบหอศิลปวัฒนธรรมและศูนย์เรียนรู้ให้กับส่วนราชการในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบไป