ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ มีแหล่งปลูกที่สำคัญในจังหวัดพิจิตร สมุทรสงคราม เชียงราย นครปฐม นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี ชัยภูมิ กาญจนบุรี ชัยนาท และสุราษฎร์ธานี
พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ ทองดี ขาวใหญ่ ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ท่าข่อย และทับทิมสยาม จากการสำรวจสายพันธุ์ส้มโอมีการกระจายตัวอย่างหลากหลายในแต่ละแหล่งปลูก ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ในบางพื้นที่ไม่ได้คุณภาพและผลผลิตต่ำ ผลผลิตไม่สม่ำเสมอ
ช่วงปี 2545-2549 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตรจึงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ส้มโอ ด้วยการคัดเลือกพันธุ์ส้มโอพันธุ์ทองดีจากการเพาะเมล็ด 200 ต้น คัดเลือกได้สายต้นส้มโอที่มีรสชาติดี ให้ผลผลิตคุณภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าส้มโอพันธุ์ที่เป็นต้นแม่ 10 สายต้น ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า ท่าชัย 32
...
ปี 2550-2555 นำสายต้นที่ได้ไปปลูกเปรียบ เทียบร่วมกับพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย ปรากฏว่า เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีทั้ง 2 พื้นที่
ปี 2556 จึงขยายพันธุ์ส้มโอท่าชัย 32 โดยวิธีการเสียบยอดจำนวน 120 ต้น นำไปทดสอบปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย และแปลงเกษตรกรใน จ.พิจิตรและชัยภูมิ
ปี 2557–2564 ปลูกทดสอบสายต้นส้มโอสายต้นท่าชัย 32 ที่ได้จากการเพาะเมล็ด ร่วมกับพันธุ์ทองดี พบว่า สายต้นท่าชัย 32 เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง คุณภาพได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและผู้บริโภค
โดยมีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงไร่ละ 1,225 กก. หรือไร่ละ 1,080 ผล น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 1.16 กก. สูงกว่าพันธุ์ทองดี ที่ให้ผลผลิตไร่ละ 743 กก. หรือไร่ละ 720 ผล น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 0.94 กก.
นอกจากนี้ยังมีรสชาติหวาน ผลกลมสูง เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพูอ่อน เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำน้อยและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
การเก็บเกี่ยวควรทำเมื่อผลมีอายุ 210-225 วัน นับจากวันเริ่มติดผลจนกระทั่งเก็บเกี่ยว จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรสชาติดีที่สุด ในขณะที่พันธุ์ทองดีจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 225-240 วัน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรพิจารณาให้ส้มโอสายต้นท่าชัย 32 เป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า“ส้มโอพันธุ์ กวก.พิจิตร 1”
ขณะนี้มีต้นแม่พันธุ์อายุ 7 ปี 20 ต้น พร้อมจะขยายพันธุ์ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 กิ่ง เกษตรกรที่สนใจ ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร. 0-5699-0035.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม