อำเภอแม่ใจ นำทีม MOI SMART Agent ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 9 ต.ค.66 นายพีรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ นายธนพล จรัลวณิชวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย MOI SMART Agent for CAST กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงเรียนชุมชนบ้านแม่สุก ตำบลแม่สุก และโรงเรียนแม่ใจวิทยาคม ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

นายพีรัช เผยว่า หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย คือ การพัฒนาคน โดยทางกระทรวงมหาดไทย ทำการฝึกอบรมหลักสูตร "MOI SMART Agent for CAST" ที่จะทำให้ผู้ผ่านการอบรมได้ไตร่ตรองและครุ่นคิดถึงกระบวนการทำงานว่า จะทำอย่างไรให้เป็นที่ถูกใจของพี่น้องประชาชน ทำให้อำนาจหน้าที่ของแต่ละกรมประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถปฏิบัติภารกิจงานที่กว้างขวาง ครอบคลุมภารกิจด้านการบริหารจัดการและพัฒนาในพื้นที่ ทั้งในมิติของการปฏิบัติงานที่จะต้องขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของรัฐบาล วาระแห่งชาติ และงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง 

นายอำเภอแม่ใจ กล่าวต่อว่า อำเภอแม่ใจ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 315,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการขยายผลเกษตรเพื่ออาหารกลางวันอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนภารกิจโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีสถานที่ดำเนินโครงการ ในพื้นที่โรงเรียน 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านแม่จว้า โรงเรียนชุมชนบ้านแม่สุก ตำบลแม่สุก โรงเรียนบ้านสันต้นม่วง ตำบลเจริญราษฎร์ โรงเรียนบ้านป่าแฝกสามัคคี โรงเรียนบ้านป่าแฝกใต้ ตำบลป่าแฝก โรงเรียนอนุบาลแม่ใจ (บ้านศรีถ้อย) โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดโพธาราม ตำบลศรีถ้อย

...

ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทีมอำเภอแม่ใจ ครู นักเรียน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อประเมินผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ โดยจากการลงพื้นที่ พบว่านักเรียนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ได้แก่ นักเรียนมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคตลอดช่วงการศึกษา นักเรียนเกิดทักษะชีวิตสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและครอบครัวได้ นักเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต

และจากการสอบถามคุณครูในโรงเรียน พบว่านักเรียนมีจิตอาสา และมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างสม่ำเสมอ เพราะได้เข้าใจถึงคุณูปการของแนวทางตามพระราชดำริต่างๆ ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับตัวนักเรียนและครอบครัวได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน.