โครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงหลินลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” เป็นหนึ่งในโครงการที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนให้กับ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นในการตรวจสอบคุณภาพ เตรียมพร้อมการส่งออกในอนาคต และเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกิดผลิตผลที่มีคุณภาพ

“คุณปู่หลิน ปันลาด ถือเป็นต้นกำเนิดของทุเรียนหลินลับแล โดยราวปี 2493 ท่านได้เข้าป่าล่าสัตว์ แล้วนำพันธุ์ทุเรียนป่ามาปลูกไว้หลังบ้าน เมื่อออกผลพบว่ารสชาติอร่อย หวาน มัน ละมุนลิ้น เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม กลิ่นไม่ฉุน ตั้งชื่อว่าทุเรียนสาครก ปี 2520 กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาช่วยในการนำทุเรียนสาครกเข้าประกวด ปรากฏว่าได้อันดับ 2 ของประเทศ ปีถัดมาจึงสามารถคว้าอันดับ 1 มาครองได้ เลยเปลี่ยนชื่อเป็นทุเรียนหลินลับแลเพื่อเป็นเกียรติแก่ปู่ ที่นำมาปลูกเป็นคนแรก เมื่อคุณพ่อมารับช่วงต่อก็พัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนได้ทุเรียนที่หวานมัน เนื้อเหนียวแห้ง เมล็ดลีบเล็ก เจือไปด้วยกลิ่นดอกไม้ป่า จนปัจจุบันถือเป็นเจน 3 ที่รับช่วงต่อจากคุณพ่อ”

...

สุภาพ ปันลาด หรือ จิ๊บ เจ้าของสวนบ้านหลินลับแล ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เล่าถึงต้นกำเนิดทุเรียนหลินลับแลอันเลื่องชื่อในอดีต...ทุเรียนหลินลับแลถือเป็นทุเรียนพื้นถิ่น แม้จะปลูกและดูแลไม่ต่างจากทุเรียนพันธุ์อื่น แต่มีข้อดีคือทนต่อสภาวะอากาศมากกว่า แต่ต้องแลกกับการเก็บผลผลิต เพราะโดยมากปลูกในป่ากลางหุบเขา ปัจจุบันทุเรียนชนิดนี้ราคา กก.ละ 700-800 บาท ขึ้นกับเกรด นิยมปลูกทั่วทั้งอำเภอ

แต่มีอุปสรรคที่ชาวสวนส่วนใหญ่ หันไปปลูกหมอนทองกันมากขึ้น แม้ราคาจะต่ำกว่าแต่ผลผลิตสูงกว่า ที่สำคัญมักขาดแหล่งน้ำในหน้าแล้ง รวมถึงขาดเทคโนโลยีในการปลูกที่ได้มาตรฐาน

เจ้าของสวนบ้านหลินลับแลบอกต่อไปว่า ปี 2549 เกิดน้ำป่าดินถล่มครั้งใหญ่ ทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ปี 2552 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเข้ามาสำรวจเก็บรวบรวมข้อมูลทุเรียนแต่ละสายพันธุ์เพื่อเป็นฐานข้อมูล ต่อมามีการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต ที่เป็นไปตามมาตรฐาน การดูแลรักษา ป้องกันโรคแมลง รวมถึงสร้างโรงคัดบรรจุและนำเนื้อออกจากเปลือกทุเรียน ณ สวนบ้านหลินลับแล เพื่อเป็นศูนย์กลางในการคัดบรรจุให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอการรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อให้สามารถนำทุเรียนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้

...

“ทุเรียนสดตัดแต่งที่แกะเนื้อออกจากเปลือก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตและชะลอความสุกของทุเรียน ที่ได้รับการถ่ายทอด ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นดูดความชื้น ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน แล้วใช้เครื่องยิงรังสีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR) ทำให้สภาพแวดล้อมภายในกล่องไม่มีหยดน้ำเกาะ ลดกลิ่นรบกวน และที่สำคัญ คือ ชะลอการสุกแก่ของผลทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคได้เป็นระยะเวลา 28 วัน ที่อุณหภูมิ 5°C ก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรได้”.

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม