นายก อบต. ในจ.ตาก 11 แห่ง ร่วมกับชาวบ้านเรียกร้องจากหน่วยงานกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เร่งรัดในการอนุมัติให้อบต.ในพื้นที่ สามารถทำการก่อสร้างถนน คสล.ให้กับหมู่บ้านตัวเองเพื่อนำความเจริญเข้ามา พ้อเป็นนายกอบต.แค่ตำแหน่ง ไม่สามารถพัฒนาชุมชนหรือหมู่บ้านในเขตปกครองของตนเองได้ เนื่องจากติดปัญหา "พื้นที่ป่า"

วันที่ 3 ส.ค. นายชาญชัย คีรีเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่อุสุ อ.ท่าสองยาง เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับทีมงานจากกลุ่มสมาคมนายกอบต.ในพื้นที่จังหวัดตาก 11 แห่ง และชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวกันเรียกร้องขอให้ ผู้ดูแลเกี่ยวกับการอนุมัติพื้นที่ป่าให้ อบต.เข้ามาบริหารจัดการดูแลในการทำถนนเละทำสิ่งก่อสร้างให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านได้สัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เนื่องจากสภาพพื้นที่ เป็นพื้นที่ห่างไกลและอยู่ในพื้นที่สูง ได้รับความลำบากในการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านในการเข้าออกไม่ว่าจะไปติดต่อราชการกับหน่วยงานในอำเภอหรือไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไปมาของนักเรียนในแต่ละวันต้องเสี่ยงอันตราย หากวันใดมีฝนตกก็จะทำให้ถนนลื่นได้รับบาดเจ็บกันอยู่บ่อยครั้ง 

ทั้งนี้ รวมไปถึงการก่อสร้างเมรุเผาศพ การก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กก็ติดปัญหา เนื่องจากพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการต่างๆ อยู่ในเขตป่าไม้ จึงไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ และยังมีนายก อบต. หลายแห่งตัดพ้อถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ อาทิ นายก อบต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ถึงกับออกปากว่าตนเป็นนายกอบต.แค่ตำแหน่ง แต่ไม่สามารถพัฒนาชุมชนหรือหมู่บ้านในเขตปกครองของตนเองได้เนื่องจากติดปัญหาส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนฯ ไม่สามารถกระจายงบประมาณเข้าไปพัฒนาหมู่บ้านให้กับชาวบ้านได้ 

...

"กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้มักจะอ้างว่าพื้นที่ป่าที่ตนปกครองอยู่นั้นเป็นพื้นที่ป่าโซน A หมายความว่า พื้นที่ป่าแห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำ แต่การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 4 เมตร ไม่ได้แผ้วถางป่าหรือเปิดหน้าดินใหม่ แต่ใช้สภาพทางเข้าออกของชาวบ้านเดิมในการก่อสร้าง จนวิงวอนขอหน่วยงานของรัฐกรุณาอนุมัติให้ อบต.ในพื้นที่ได้ทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย"

นายภาจอ ตัวแทนจากชาวบ้าน อ.ท่าสองยาง เล่าว่า ตนร่วมกับเพื่อนบ้านได้ร้องขอถนนเข้าออกหมู่บ้านไปยัง อบต.ในพื้นที่อยู่บ่อยครั้งและได้ตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อพัฒนาถนนเข้าออกหมู่บ้านแต่ก็ทำได้เพียงนำจอบเสียมเข้ามาทำการฝังกลบร่องน้ำหรือหลุมบนถนนเท่านั้นไม่สามารถทำอย่างอื่นได้แม้กระทั่งนำปูนซีเมนต์มาผสมเทคอนกรีตให้รถมอเตอร์ไซค์ขับผ่านก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่า จึงอยากจะขอเรียกร้องผ่านสื่อให้หน่วยงานกรมอุทยานและกรมป่าไม้ให้เร่งรัดอนุมัติเกี่ยวกับเรื่องของการก่อสร้างถนนคอนกรีตของอบต. ให้เร็วขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เข้าฤดูฝน คนแก่ในหมู่บ้านที่ต้องเดินทางเข้าออกหมู่บ้านในเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่ผ่านมามีการสูญเสียเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากไปโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีถนนคอนกรีตก็จะทำให้สามารถไปได้เร็วขึ้นและลดการสูญเสียได้ รวมถึงเด็กนักเรียนก็จะสามารถไปลงเรียนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันลูกหลานต้องได้รับบาดเจ็บจากการลื่นล้มเนื่องจากสภาพถนนเป็นดินโคลนไม่สามารถเดินทางได้สะดวก จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งรัดในการอนุมัติก่อสร้างถนน

นายพะดา ชาวอ.แม่ระมาด กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนได้รวมตัวกันเรียกร้องไปยัง อบต.ในพื้นที่ เพื่อร้องขอถนนคอนกรีตสำเร็จเข้าออกหมู่บ้านของตน แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมคือยังรออนุมัติจากกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านต้องรอมานานถึง 8 ปีแล้ว  

นายพะดา กล่าวด้วยว่า บางครั้งมีผู้ป่วยฉุกเฉิน ก็ไม่สามารถนำออกจากหมู่บ้านได้เนื่องจากถนนลื่น ต้องใช้คนหามออกจากหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินเท้ากว่า 6 ชั่วโมงจึงจะไปถึงอนามัย ระยะทางเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น และบางครั้งก็มีคนตายจากการไปหาหมอไม่ทัน เพราะถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ รถฉุกเฉินของอบต. ไม่สามารถเข้ามารับได้ 

รวมไปถึงคุณครูประจำโรงเรียนและคุณหมอประจำอนามัยในบางครั้งก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากฝนตกถนนลื่น จึงอยากจะวิงวอนขอความเมตตาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดอนุมัติให้อบต.ในพื้นที่ได้ทำการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กด้วย”

นอกจากนี้ ชาวบ้านบางหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากถนนสายหลักเพียง 1 กิโลเมตรก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะติดที่หน่วยงานป่าไม้ ชาวบ้านจึงอยากฝากถึงกรมป่าไม้และกรมอุทยานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบอำนาจอนุญาตให้ อบต.หรือหน่วยงานในพื้นที่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่