"นิติพล" เสนอเร่งหามาตรการรับมือภัยแล้งภาคเกษตรกรรม หลังปรากฏการณ์ เอลนีโญ ที่ไทยกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝนตกน้อย หวั่นกระทบเศรษฐกิจภาคเหนือรุนแรง พร้อมหนุนมาตรการเยียวยา
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.66 นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยกล่าวว่า "ภาพรวมคือเรากำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝนตกน้อย เสี่ยงเกิดภัยแล้งลากยาวไปอย่างน้อย 2 ฤดูผลิต และในฐานะคนเชียงใหม่ ผมขอกล่าวถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อภาคเหนือที่เราต้องเร่งหามาตรการรับมือ เมื่อเกิดภัยแล้ง ภาคเกษตรกรรม ได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน ภาคเหนือเรามีผู้คนอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก อาจเป็นเจ้าของ เช่าช่วงหรือรับจ้าง มีทั้งปลูกข้าว ข้าวโพด สวนลำไย ลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี่และอื่นๆ อีกมาก"
นายนิติพล กล่าวด้วยว่า ผลกระทบอย่างเบาเมื่อขาดน้ำคือ ได้ผลผลิตน้อยหรือไม่มีคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา ไม่คุ้มกับต้นทุน แต่อย่างรุนแรงคือ ผลผลิตเสียหายทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่จะตามมาและผูกมัดเกษตรกรภาคเหนือต่อไปก็คือ หนี้สินที่ลงทุนไปในแต่ละรอบการผลิต ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยมีหนี้สินจากตรงนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งใน 2 รอบการผลิตนี้ หากไม่สามารถมีผลผลิตเพื่อนำรายได้กลับมาหักลบกลบหนี้ได้ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคเหนือไม่ใช่ครัวเรือนที่ร่ำรวยสายป่านยาว หรือมีต้นทุนมากพอหล่อเลี้ยงในช่วงที่ประสบปัญหายาวๆ แบบนี้ได้
...
อีกภาคส่วนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบเช่นกันคือ ภาคอุตสาหกรรม อย่างในจังหวัดลำพูน มีนิคมหลายแห่ง ซึ่งน้ำจำเป็นอย่างมากต่อการผลิตและมีความต้องการใช้คราวละมากๆ ดังนั้น การขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นปัญหาใหญ่ จนถึงขั้นลดหรืออาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว แน่นอนว่า พี่น้องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงาน ซึ่งภาวะนี้เคยเกิดมาแล้วช่วงโควิด จึงน่ากังวลว่าอาจเกิดขึ้นอีกจากวิกฤติเอลนีโญ ต่อมาคือ ภาคการท่องเที่ยว ลองคิดดูว่าเราเจอฝุ่นพิษไปครึ่งปี ซ้ำด้วยภัยแล้งอีกสองปีจะหนักแค่ไหน
"ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อทัศนียภาพ ไปไหนก็มีแต่ความหดหู่ ขาดความเขียวขจีชุ่มชื้น คนมีกำลังทรัพย์ก็อาจหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่ต่างประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็อาจเลี่ยงไปที่อื่น ซึ่งหมายความว่าในห่วงโซ่ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวลดลงก็จะกระทบไปหมดเช่นกัน"
ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ว่าภาคเกษตร อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยวคือ 3 ฟันเฟืองใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือทั้งสิ้น ยังไม่นับผลกระทบโดยอ้อม หรือเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนรายวัน เช่น ค่าครองชีพจะแพงขึ้น เนื่องจากการเกษตรมีผลผลิตน้อย หรือภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูง ยังไม่นับเรื่องการบริหารจัดการ เพราะเมื่อความต้องการน้ำสูงจะจัดสรรอย่างไร ให้น้ำแก่ใครบ้าง
ที่ผ่านมาการช่วงชิงน้ำหรือทะเลาะเบาะแว้งระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น ในเบื้องต้นสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมคือมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรม หากต้องสละส่วนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนและพูดคุยกันแต่เนิ่นๆ