อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ แจงคดี "สาวซีวิค" ชนรถตู้ดับ 9 ศพ โดยให้คู่กรณีไปไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ 2553 ยันไม่ได้นำมาใช้เป็นครั้งแรก วอนสังคมอย่าอาฆาตเยาวชน แต่เพื่อต้องการแก้ปัญหาปรับพฤติกรรมเยาวชนมากกว่าให้ถูกคุมขัง ยกเว้นเยาวชนที่เป็นอันตรายต่อสังคมก็จะพิเคราะห์เป็นรายๆ...

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.  ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยกล่าวถึงกรณีศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเลื่อนฟังคำพิพากษาคดี "สาวซีวิค" ขับรถยนต์ชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย โดยให้คู่กรณีไกล่เกลี่ยกันก่อน ว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน ศาลจะค้นหาสาเหตุของการกระทำผิด โดยใช้หลักวิชาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 และกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัว หรือกระบวนการเชิงสมานฉันท์ ในกฎหมายฉบับนี้ถือว่าศาลทำได้ โดยก่อนฟังคำพิพากษา ศาลได้สั่งให้มีการประชุมกลุ่มครอบครัว เพื่อให้คู่กรณีได้เจรจากันก่อน หากได้ผลอย่างไร ในวันที่ 2 ก.ค. ทางศาลจะนำปัญหาจากการเจรจามาพิจารณาอีกครั้ง

ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวศาลเยาวชนฯ ไม่ได้นำมาใช้เป็นครั้งแรก แต่ได้ใช้ในคดีเยาวชนที่กระทำผิดมานานแล้ว แต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง อยากขอให้สังคมอย่าได้อาฆาตเยาวชน ว่าจะเขาต้องได้รับโทษเหมือนอย่างที่ได้กระทำผิดลงไป ทางศาลเยาวชนฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว มาโดยตลอด ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างไร เพราะการแก้ปัญหานำเยาวชนไปคุมขัง ไม่ใช่แนวทางออกของการแก้ปัญหาได้เสมอไป เหมือนอย่างกรณีเยาวชนนักเรียนนักเลงที่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมอยู่ขณะนี้ ทางศาลเยาวชนฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเยาวชนเหล่านี้ถูกพนักงานสอบสวนส่งตัวมาถึงกระบวนการของศาลเยาวชน จะมีการพิเคราะห์ว่า หากเยาวชนเป็นอันตรายต่อสังคม จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น การไม่ให้มีการประกันตัวต้องส่งตัวไปควบคุม เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างปัญหาให้กับสังคมอีก เป็นต้น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ ยืนยันด้วยว่า การที่ศาลเยาวชนฯ นำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 มาบังคับใช้ เพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพและการแก้ไข บำบัดฟื้นฟูเด็กเยาวชนและครอบครัว เพื่อต้องการให้เด็กและเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้ปกติสุขมากว่านำไปสู่กระบวนการลงโทษ และเพื่อให้เกิดเป็นผลอย่างรูปธรรมศาลเยาวชนฯ จึงได้ดำเนินการ จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ส.ค. 2555 โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์เป็นพลเมืองดีของสังคม และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตต่อไป.

...