ไฟไหม้ป่าดอยสุเทพ ซ้ำเติมวิกฤติฝุ่นควันเชียงใหม่ หมอกควันหนาทึบคลุมทั่วทั้งเมือง ค่ามลพิษนำโด่งยึดอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก พุ่งทะลุเกณฑ์อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่คณะแพทย์ ม.เชียงใหม่ เผยคนไข้เพิ่มล้นหอผู้ป่วยแล้ว

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 66 รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบและรู้สึกได้ถึงกลิ่นเหม็นไหม้ในอากาศอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากไฟไหม้ป่าหลายจุดที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ไม่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังกันเข้าทำการดับอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งดับไฟให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบจุดความร้อนจากการเผาในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก



ทั้งนี้รายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 336 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 286 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีเป็นอันตราย โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ส่วนรองลงมา ได้แก่ อันดับ 2 เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ดัชนีคุณภาพอากาศ 160 US AQI, อันดับ 3 เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน 160 US AQI, อันดับ 4 เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 159 US AQI และอันดับ 5 เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน 157 US AQI

...

ส่วนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ในตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ, ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม, ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และตำบลหางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น. วันนี้อยู่ที่ 199 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 194 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 176 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 156 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, 342 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ 166 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 309, 304, 286, 266, 452 และ 276 ตามลำดับ จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะที่ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สถานการณ์วิกฤติหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างหนักในทุกพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ มลพิษอากาศฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และโรคเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการกำเริบ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 12,671 ราย (สถิติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคม 2566 ) และยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง