อธิบดีกรมควบคุมมลพิษชี้ หมอกควันพิษ PM 2.5 ในเชียงรายส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็น "หมอกควันข้ามแดน" เผยนายกรัฐมนตรีสั่งกำชับ เร่งประสานแก้ไขปัญหา ขณะที่ จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีคนจุดไฟเผาป่าแล้ว 15 คดี
เวลา 10.00 น. วันที่ 30 มี.ค. 66 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) จัดประชุมติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายวราดิศร อ่อนนุช รอง ผวจ.เชียงราย นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานการประชุม และมีนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและวิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุม กรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมทั้งหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมในการประชุม โดยมีนายสมเกียรติ ปูกา ผอ.ทสจ.เชียงราย นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผอ.สบอ.15 ร่วมรายงานสถานการณ์
นายสมเกียรติ ปูกา ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงราย เผยว่า จากมติการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 66 ได้มีมติยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ในพื้นที่ 17 จังหวัด และกำหนดแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567-2570 แบ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤติหรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง และระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังและปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะไปกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ รวมถึงห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาในที่โล่งในช่วงนี้ และบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น" กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ออกมาตรการงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้ กระทรวงคมนาคม พิจารณาในการจำกัดเวลาและปริมาณรถบรรทุกที่จะเข้าในเขตเมือง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง และกระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงยารักษาโรค เร่งรัดบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จัดคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัด โดยให้ทุกหน่วยงานมีการรายงานผลดำเนินการของภาครัฐให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาหรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
...
ส่วนมาตรการในระยะยาว ทางสำนักงบประมาณ จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณบูรณาการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รวมถึงงบในการป้องการและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันให้กับ อปท. ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้กรมควบคุมมลพิษเพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดทำแผน/มาตรการลดและจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวนรายพื้นที่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม เข้มงวดปลอดการเผาสำหรับพื้นที่การเกษตร (Zero Burning) ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าว มาตรการเพิ่มมูลค่าวัสดุชีวมวลทางการเกษตร กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าการเกษตรที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ (PM 2.5) และกระทรวงการคลัง ให้กำหนดมาตรการจูงใจในการนำรถเก่าออกนอกระบบ และมาตรการจำกัดปริมาณรถและโรงงาน
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า จากข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษ ของกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำโมเดลเพื่อพยากรณ์และศึกษาว่ากรณีค่าฝุ่นที่เกิดในเชียงราย ที่ตรวจพบค่าสูงเกินกว่า 500 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากไหน ซึ่งจากข้อมูลมีความชัดเจนว่า ฝุ่นประมาณ 70% มาจากพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยหลังจากที่ได้ทราบข้อมูลตรงจุดนี้แล้ว ทางนายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับให้ทางกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประสานกับทางประเทศเพื่อนบ้านในทุกช่องทาง เพื่อช่วยกันลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน และวันนี้ทางปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ได้สั่งการให้ลงพื้นที่ร่วมกับทางจังหวัดเพื่อกระตุ้นให้ใช้กลไกในพื้นที่เพื่อประสานกับทางประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดฝุ่นอีก 30% ที่อยู่ในบ้านเรา ทางที่ประชุมก็ได้ให้ความสำคัญและจะต้องช่วยกันหามาตรการลดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันหรือ PM 2.5 ของ จ.เชียงราย ที่เกินค่ามาตรฐานอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุจาก 2 ส่วนคือ หมอกควันที่ลอย มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทางกรมควบคุมมลพิษได้จำลองโมเดลการเกิดมลพิษ จนทราบว่าหมอกควันประมาณ 70% เกิดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอีก 30% เกิดจากการเผาในพื้นที่ จ.เชียงราย ในส่วนที่เป็นปัญหาหมอกควันข้ามแดนเราได้มีการหารือกันกับประเทศเพื่อนบ้านในการขอความร่วมมือชาวบ้านไม่ให้เผาป่า ส่วนปัญหาในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งมีทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน รวมถึงพื้นที่การเกษตร เราได้มีการระดมกำลังมาจากภูมิภาคอื่นมาช่วยในภารกิจควบคุมไฟป่า และมีการนำเฮลิคอปเตอร์ทั้งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาช่วยในภารกิจดับไฟในพื้นที่ป่าทุรกันดารเข้าถึงยาก และจำเป็นต้องใช้อากาศยานในการดับไฟป่า ทางกรมป่าไม้ได้ประสานกับ อปท. ในการที่จะนำชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมในการดับไฟป่า ซึ่งภารกิจในการดับไฟป่าในเขตป่าสงวน เราได้โอนภารกิจให้กับทาง อปท. เป็นผู้ดำเนินการแล้ว แต่ในการดำเนินการบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ของแต่ละ อปท. อาจจะยังไม่มีความพร้อม ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งในระยะยาวก็จะต้องมีการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ของ อปท. เพื่อจะได้รับมอบโอนภารกิจในอนาคต รวมถึงให้จัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างบุคลากรมาทำหน้าที่ในการดับไฟป่าซึ่งจำเป็นจะตัองมีการจัดสรรไว้ ไม่งั้นจะไม่มีใครมาช่วยในการดับไฟป่า ในส่วนของพื้นที่การเกษตร ได้มีการประสานกับทางเกษตรจังหวัด ซึ่งได้มีมาตรการในอบรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำเชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งก็จะช่วยลดจำนวนจุดฮอตสปอตในพื้นที่การเกษตรไปได้เยอะ และเรายังมีหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ทั้งมูลนิธิกระจกเงา สภาลมหายใจ และภาคเอกชนต่างๆ ที่มาร่วมบริจาคสิ่งของให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผวจ.เชียงราย ก็มีมาตรการสร้างแรงจูงใจโดยการให้สินบนนำจับให้กับผู้ชี้เบาะแสผู้เผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดไฟป่า โดยมีทั้งการบุกรุกป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า หรือผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเกิดไฟป่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ทางผู้นำชุมชนหรือสื่อมวลชนได้ไปช่วยกันประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา PM 2.5 เพราะคนจุดไฟเผาป่าแค่เพียงหนึ่งคน แต่คนไปช่วยดับมีเป็นร้อยเป็นพันคน และคนได้รับผลกระทบก็เป็นคนทั้งจังหวัดนับล้านคนต้องมารับผลกระทบ และต้องทนสูดเอาฝุ่นควันพิษเข้าไปในร่างกาย โดยไม่ทราบว่าในอนาคตจะส่งผลอย่างไรกับสุขภาพบ้าง
...
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจติดตามสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่ สบอ.15 ในช่วงเช้าแล้ว ในภาคบ่ายทางคณะได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปที่อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า และสถานีควบคุมไฟป่าภูชี้ฟ้า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านร่มฟ้าไทย ม.24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย เพื่อรับฟังการบรรยายสถานการณ์ไฟไหม้ป่าภูชี้ฟ้า ต่อจากนั้นได้เดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก เพื่อติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
ขณะที่นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์เหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน (ศบก.ไฟป่า) ส่วนหน้า จ.เชียงราย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เร่งป้องกัน และปราบปรามผู้กระทำความผิด "ห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาดช่วง 60 วัน ปลอดการเผา" ล่าสุดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เชียงของ และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชร.4 (หาดไคร้) ร่วมกันออกตรวจสอบจุดเกิดความร้อนบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ทิศเหนือแม่น้ำโขงฝั่งขวา บ.กิ่วกาญจน์ หมู่ 6 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ปรากฏพบนางสาวปาริตา นางหมี่เคอะ และนายวุฒิไกร กำลังใช้มีดตัดต้นไม้แผ้วถางป่า เป็นบริเวณกว้างลักษณะของตอไม้ยังสดใหม่อยู่ จึงทำการจับกุม ตั้งข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 ฐาน "บุกรุก แผ้วถาง ครอบครอง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า" ประกอบมาตรา 55 และ 72 ตรี และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ฐาน "ยึดถือครอบครอง แผ้วถาง เผาป่า" ประกอบมาตรา 31 ควบคุมตัวพร้อมของกลางส่ง พงส.สภ.เชียงของ ดำเนินคดี
ส่วนช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาพบไฟป่าเกิดขึ้นอีกหลายจุด ล่าสุดเกิดไฟไหม้พื้นที่ป่าบนเทือกเขาดอยนางแลรอยต่อระหว่างตำบลท่าสุดกับตำบลนางแล อ.เมือง ไฟได้ลุกไหม้เป็นบริเวณกว้างหลายร้อยไร่และยังขยายวงกว้างเนื่องจากพื้นที่มีเชื้อเพลิงสะสม และยังอยู่ใกล้กับบ้านเรือนประชาชน บ้านพลูทอง หมู่ 11 ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย โดยระดมเจ้าหน้าที่เข้ารถดับเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมดับไฟ ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้
ทั้งนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนป่าเขา จนกระทั่งพบผู้ต้องสงสัยพร้อมอาวุธปืน ไฟแช็ก และยานพาหนะ การจุดไฟเผาป่า จับปรับ ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 15 คดี อ.แม่สรวย 2 คดี อ.เมือง อ.แม่ลาว และ อ.พาน อำเภอละ 1 คดี ยังจับตัวไม่ได้ 10 คดี ทั้งหมดเกิดขึ้นในผืนป่าอนุรักษ์จำนวน 9 คดี ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 6 คดี.
...