มินิซีรีส์เรื่อง “น่านแซนด์บ็อกซ์” ตอนที่แล้วจบลงด้วยความคิดที่ว่าจะหาพืชอะไร? ที่มีราคามาให้เกษตรกรน่านปลูกแทน ข้าวโพดในอนาคต ภายใต้ร่มเงาของป่าที่ปลูกขึ้นใหม่

เพื่อที่พวกเขาจะมีรายได้ที่ดีพอสมควรจากพืชชนิดใหม่ที่ว่านั้น อันจะเป็นผลให้เขาอยู่กับป่าอย่างมีความสุขไม่ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปลูกพืชไร่แก้จน และในที่สุดกลับจนหนักขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน

ความคิดของคณะทำงานไปตกผลึกที่พืชชนิดที่สามารถนำมากลั่นหรือพัฒนาเป็นตัวยารักษาโรคหรือเครื่องสำอางที่ทันสมัยได้ ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน

ความต้องการของตลาดโลกที่มีต่อ “ยา” ที่มิใช่ผลิตจากสารเคมี แต่ใช้สารที่กลั่นจากพืชที่มาจากธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

ด้วยเหตุนี้หากสามารถ “ค้นพบ” พืชที่ว่านี้และนำมาให้เกษตรกรเมืองน่านปลูก น่าจะเป็นทางออกของเมืองน่านที่ในประวัติศาสตร์ 700 ปีก่อน เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องยารักษาโรคอย่างมากในแถบถิ่นล้านนา

เป็นที่มาของการค้นหาตัวยาต่างๆ จากพืชพันธุ์ในจังหวัดน่านที่คุณบัณฑูรใช้คำว่า “โครงการหญ้ายา” และบัญญัติศัพท์เป็นภาษาอังกฤษว่า “YAYA” อย่างตรงไปตรงมา

คำว่า “หญ้ายา” ดัดแปลงมาจากภาษาจีนที่ใช้คำว่า “เย่าเฉา” (Yàocào) หรือในภาษาอังกฤษก็มีการพูดถึง Medicinal Grass หรือในบางตำราก็ขยายไปถึงพืชต่างๆด้วยจึงเรียกว่า Medicinal Plant

“หญ้ายา” เป็นหญ้าที่มีสรรพคุณทางการรักษาโรคและสามารถสกัด เฉพาะสารออกฤทธิ์ออกมาเป็นยารักษาโรคสมัยใหม่ได้

บาง “หญ้า” เป็นสมุนไพรที่รู้จักดีอยู่แล้ว บาง “หญ้า” อาจเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้ดี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก

...

เป็นที่มาของการระดมนักวิจัยด้านเภสัชกรรมจากคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาฯ มหิดล รวมไปถึงองค์การเภสัชกรรมที่จะมาช่วยวิจัยค้นหาและทำให้พืชยาต่างๆ เป็นยาที่ “ทันสมัย” มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าสมุนไพรทั่วไป

คณะทำงานน่านแซนด์บ็อกซ์ มั่นใจว่าถ้าเราสามารถค้นหา “พืช” หรือ “หญ้า” ตัวนี้ได้ ก็จะเป็นอาชีพใหม่ของเกษตรกรที่สามารถจะปลูกไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่จะกลับมาเป็นป่าอีกครั้งในอนาคต

การวิจัยหรือการค้นหา “หญ้ายา” น่าจะเริ่มขึ้นแล้วจากการที่กลับมาตรวจสอบข่าวย้อนหลัง พบว่าการลงนามกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่องานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในราวๆช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ผู้ลงนามในภาพที่เห็นก็คือคุณ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย คนปัจจุบัน และประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณแก่โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์และมูลนิธิรักษ์ป่าน่านตัวจริงเสียงจริงนั่นเอง

โดยส่วนตัวผมเองไม่คิดว่าการค้นหา “หญ้ายา” ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จง่ายนัก แต่ผมก็ขอให้กำลังใจ เพราะเชื่อเช่นเดียวกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ขอให้กำลังใจไปถึง อย. ไปถึงองค์การเภสัชกรรม และคณาจารย์นักวิจัยทั้งหลายของคณะเภสัชกรรมศาสตร์ต่างๆที่กำลังเร่งวิจัยอย่างขะมักเขม้น

ผมเป็นคนชอบดูโขนและจำได้ว่าเมื่อตอน พระลักษมณ์ โดน กุมภกรรณ พุ่งหอกโมกขศักดิ์เข้าใส่นั้น ก็เป็นที่วิตกกันว่าพระลักษมณ์จะสิ้นพระชนม์แน่

แต่พิเภกก็ทูล พระราม ว่าไม่ต้องห่วง เพราะตัวยานั้นมีอยู่ ชื่อว่า สังกรณีตรีชวา อยู่ที่ยอดเขาอะไรสักแห่ง ผมลืมแล้ว

ข้อยุ่งยากก็คือจะต้องไปเอาตัวยานี้มาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมด้วยนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนสักแห่ง ที่ผมลืมแล้วเช่นกัน แต่ก็ต้องได้มาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นอีกนั่นแหละ

หากได้ทั้งยาและนํ้าดังกล่าวมาผสมกันก็จะถอนฤทธิ์หอกโมกขศักดิ์ให้พระลักษมณ์รอดตายได้

จึงตกเป็นภาระของหนุมานชาญสมร ที่จะต้องเหาะไปเด็ดต้นยาและตักนํ้าศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ต้องเหาะไปดักพระอาทิตย์ เพื่อที่จะขอร้องว่าอย่ารีบชักรถข้ามขอบฟ้าในวันที่พิเภกจะทำพิธี

โขนรามเกียรติ์ตอนนี้จบด้วยความสามารถอันยิ่งใหญ่ของหนุมานชาญสมรที่ปฏิบัติภารกิจครบถ้วนทุกอย่าง

ผมนึกถึงโขนตอนนี้ก็เพราะผมกำลังมองว่ามูลนิธิรักษ์ป่าน่าน, โครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” และมูลนิธิกสิกรไทย กำลังทำงานใหญ่และยากมากในการค้นหา “หญ้ายา” ดังกล่าว

ก็ต้องขอให้กำลังใจและขอให้ประสบความสำเร็จเหมือนหนุมานนะครับ.

“ซูม”