จากสไลด์และการบรรยายสรุป ณ ห้องอาหารของ “บ้านเจ้าสัว” ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน ที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ ปลูกไว้เพื่อเป็นบ้านพัก ขณะไปปฏิบัติภารกิจที่เมืองน่าน ทำให้ผมทราบว่า แม้การดำเนินงานของโครงการทดลอง “น่านแซนด์บ็อกซ์” จะยังอีกไกลมากกว่าจะไปถึงความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่ก็นับว่าโครงการนี้ได้ออกเดินมาไกลมิใช่น้อย จากจุดเริ่มต้น

ในภาพรวมตัวเลขป่าน่านที่คุณบัณฑูรหยิบยกมาบรรยายยังคงเป็นตัวเลขเดิมเหมือนเมื่อครั้งบรรยายในการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 1” พ.ศ.2557

คณะกรรมการน่านแซนด์บ็อกซ์ ยังคงใช้ตัวเลข 28 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขเป้าหมายในการปฏิบัติงานเช่นเดิม

โดยกำหนดให้พื้นที่ถูกทำลายที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำระดับ 1-2 รวมทั้งสิ้น 18 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปลูกต้นไม้ใหญ่และอนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นเปอร์เซ็นต์เป้าหมายเดิมเช่นกัน

ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำระดับ 3-4-5 ที่ถูกบุกรุกทำลายไป 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังคงใช้ 10 เปอร์เซ็นต์ไม่มีลดลงหรือเพิ่มขึ้น

นั่นก็แสดงว่าการริเริ่มโครงการนี้ขึ้น นับตั้งแต่มีการประชุมสัมมนาครั้งที่ 1 ซึ่งตีแผ่ข้อเท็จจริงและตัวเลขให้เห็น น่าจะมีส่วนอย่างมากในการสร้างความระมัดระวังแก่สังคม แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และแก่ราษฎร ที่เคยตัดสินใจบุกป่าอย่างง่ายๆในยุคก่อน

ส่งผลให้ตัวเลขโดยรวมยังคงเหมือนเดิมแม้เวลาจะผ่านไปพอสมควรแล้ว

นอกจากภาพกว้างที่ว่านี้แล้วกว่า 3 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานในระดับพื้นที่ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการค้นหาทั้งข้อมูลที่ถูกต้อง และตัวเป็นๆ ของเกษตรกรที่ทำมาหากินอยู่ในเขตป่าสงวน โดยเฉพาะในเขต 18 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องให้ความสนใจสูงสุด

...

มีรายงานเป็นเอกสารสรุปได้ว่าจาก 15 อำเภอ ของจังหวัดน่าน มีการเก็บข้อมูลที่ดินรายแปลงของเกษตรกรที่ทำกินในเขตป่าสงวน เสร็จเรียบร้อยแล้ว 610 หมู่บ้าน จำนวนแปลงทั้งสิ้น 134,940 แปลง

กรมป่าไม้ได้อนุมัติแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ในแบบ Pre approved ไปแล้ว เมื่อต้นปี 2564

งานใหญ่และหนักหนาสาหัสประการหนึ่งที่คณะทำงานในโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ดำเนินมาตลอด และจะต้องดำเนินต่อไปก็คือ การนำความรู้จากทุกศาสตร์ทุกแขนงมาสนับสนุนการเปลี่ยน “วิถีการทำกิน” ที่พี่น้องเกษตรกรปฏิบัติอย่างคุ้นเคยในขณะนี้ให้จงได้

จะต้องชะลอการปลูกข้าวโพด พืชที่ปลูกไปก็แทบไม่คุ้มทุน และเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างมากให้จงได้

แต่เนื่องเพราะเกษตรกรน่านแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดเลยเพราะอย่างไรเสีย “ข้าวโพด” ก็เป็นพืชที่เขาคุ้นเคยปลูกง่ายและมีตลาด (ที่แม้จะราคาไม่ค่อยคุ้มทุน) รองรับ ทำให้พี่น้องเกษตรกรน่านยังคงปลูกต่อไป

คำถามก็คือจะมีพืชทางเลือกอื่นใดที่มีมูลค่าสูงพอสมควรมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแทนข้าวโพดหรือไม่?

มีการเปลี่ยนไปปลูกกาแฟบ้าง ไปปลูกไม้ผลต่างๆบ้าง แต่ก็ยังไม่มีพืชผลใดที่ลงตัว และสามารถส่งเสริมได้

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานยังคงค้นคว้าหาความรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และในที่สุด “คุณปั้น” อีกนั่นแหละที่มองว่าจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีภูมิปัญญาในการใช้ “พืช” เพื่อการรักษาโรคมากว่า 700 ปีแล้ว

เป็นนครที่มีชื่อเสียงด้านยารักษาโรค เพราะมีพืชพันธุ์ที่นำไปใช้รักษาโรคหลายๆพืชพันธุ์ จนมีประเพณีเจ้าเมืองเสด็จลงสรงน้ำในลำธารที่เป็นต้นสายของลำน้ำน่าน ที่เชื่อกันว่า เป็นแหล่งรวบรวมสั่งสมของตัวยาจากพืชต่างๆที่ลงไปแช่ไปหมักอยู่ในลำธารดังกล่าว

ในขณะเดียวกันโลกปัจจุบันก็หันมาสนใจการรักษาโรคด้วยสารที่กลั่นจากพืชมากขึ้น โดยการพัฒนาพืชทางยาที่เรียกว่า Medicinal Plant หรือ Medicinal grass ให้เป็นยารักษาโรคที่ทันสมัย

เป็นที่มาของโครงการ “หญ้ายา” หรือการค้นหาพืชที่มีสรรพคุณเป็นยา และสามารถพัฒนาสู่การรักษาโรคอย่างทันสมัยโดยเร่งด่วน เพื่อที่จะนำมาปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ของป่าไม้เมืองน่านในอนาคต

พรุ่งนี้อย่าลืมอ่านขบวนการค้นหา “หญ้ายา” และแนวคิดที่จะทำให้น่านเป็น “เมืองสุขภาพ” และ “เมืองยา” ด้วยนะครับ มีทั้งเกร็ดและเบื้องหลังที่น่าสนใจอย่าบอกใครเชียว.

“ซูม”