เมื่อวานนี้ผมเขียนเกริ่นไว้ในคอลัมน์ “ซอกแซก” ว่าผมได้รับเชิญจากโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” ให้ไปดูชมความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่จังหวัดน่านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หยิบเรื่องเบาๆแบบท่องเที่ยวสนุกสนานเบิกบานใจมาเขียนก่อนในวันอาทิตย์ตามสไตล์ของคอลัมน์ซอกแซกที่เน้นความสดชื่นรื่นรมย์เป็นหลักส่วนเรื่องที่เป็นสาระหรือค่อนข้างจะหนักสมองอยู่บ้างจะนำมาเขียนต่อในฉบับวันจันทร์ และอาจจะอีกหลายๆวัน เพราะได้ข้อมูลมาพอสมควร

ก่อนจะว่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันผมขอย้อนหลัง เพื่อฉายภาพของจังหวัดน่าน และสภาพปัญหาในอดีตปูพื้นฐานเอาไว้สักเล็กน้อย

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้ยินปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดน่านมานานมาก และได้เห็นภาพของเขาหัวโล้นในลักษณะต่างๆโผล่ผุดขึ้นในหลายๆพื้นที่ และหลายๆภูเขาของจังหวัดน่านมาโดยตลอด แต่ก็มิได้ให้ความสนใจ หรือใส่ใจอย่างจริงจังเท่าไรนัก

จวบจนกระทั่งวันหนึ่งก็มีข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 เกือบ 10 ปีมาแล้ว เกี่ยวกับการสัมมนาทางวิชาการเรื่องหนึ่งที่ ศูนย์เรียนรู้และบริหารวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอเมืองน่าน ในชื่อการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 1

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศ ในขณะนั้น) เสด็จฯเป็นองค์ประธานการสัมมนาและทรงแสดงปาฐกถาพิเศษพระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว

ตามมาด้วยนาย บัณฑูร ลํ่าซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยในขณะนั้น ที่มีความรักในเมืองน่าน ย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่จังหวัดน่านและพบว่าป่าไม้ในจังหวัดน่านถูกทำลายไปแล้วจำนวนมาก

มิหนําซํ้าสถานการณ์ยังอยู่ในขั้นที่การบุกรุกทำลายจะต้องมีต่อไปอีก เพราะความยากจนของประชาชนชาวน่านจำนวนมากที่แห่กันบุกรุกหักร้างถางพงแล้วโค่นต้นไม้เพื่อปลูกพืชไร่ (โดยเฉพาะข้าวโพด) เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

...

ตัวเลขที่คุณบัณฑูรแถลงในวันนั้นก็คือจังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 7,601,920 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 รวม 6,435,792 ไร่ หรือ 85 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด

แต่ ณ วันที่มีการสัมมนา (พ.ศ.2557) นั้นเอง พื้นที่ป่าสงวนคงเหลือ 4,544,996 ไร่ แปลว่าป่าเมืองน่านหายไป 1,870,796 ไร่ หรือร้อยละ 28 ของป่าสงวนทั้งหมด

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดการบุกรุกและถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดการให้บางส่วนที่ถูกทำลายกลับมาเป็นป่าไม้เขียวขจีเหมือนเดิม

การสัมมนาครั้งที่ 1 นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้คนไทยรับรู้ รับทราบปัญหาของจังหวัดน่านมากขึ้น รู้ถึงความสำคัญของจังหวัดน่านในฐานะเจ้าของ แม่นํ้าน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของแม่นํ้าที่ไปรวมตัวกันเป็นแม่นํ้าเจ้าพระยา และส่งนํ้าให้แก่แม่นํ้าเจ้าพระยาถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเกิดอะไรขึ้นแก่ป่าเมืองน่าน และส่งผลกระทบไปถึงแม่นํ้าน่าน... แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงไปถึง “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” โดยตรง

นอกจากรับรู้ในประเด็นหลักๆเหล่านี้แล้ว เรายังรู้ด้วยว่า “มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน” เป็นมูลนิธิ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เป็นที่มาของคำขวัญแห่งมูลนิธิที่ว่า “ตาจากฟ้า หัตถาเทพ รักษ์ป่าไทย” ที่ผมนำมาขึ้นพาดหัวคอลัมน์ในวันนี้

นับจากปี 2557 ได้มีการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ขึ้นอีกหลายครั้ง และล่าสุดก็คือครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 19 เมษายน ปี 2565 หรือปีที่แล้วนี่เอง

ขณะเดียวกันก็ได้มีการทำงานในภาคสนามอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม จนแน่ใจในแก่นของปัญหาและแนวทางแก้ไขในระดับหนึ่ง ก่อนที่นายบัณฑูร รองประธานมูลนิธิฯ จะเข้าพบและรายงานแนวทางต่างๆแก่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2559

เป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” เพื่อทดลองการปฏิบัติจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน และสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนแก่ราษฎร เมื่อปี 2561

จากปี 2561 มาถึงปีนี้เกิดอะไรขึ้นกับจังหวัดน่านบ้าง? นี่คือคำถามที่ผมต้องการคำตอบ และตัดสินใจเดินทางไปจังหวัดน่าน เพื่อสัมภาษณ์คุณบัณฑูร ลํ่าซำ และลงพื้นที่ดูงานด้วยตนเอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

และจะทยอยเขียนแบบมินิซีรีส์ไปสัก 3-4 วัน นับจากนี้นะครับ.

“ซูม”