ปศุสัตว์เชียงใหม่ เดินหน้าจัดระเบียบฝูงหมาจรจัดในศูนย์ราชการ แม่ค้าเผยคนนำมาทิ้งประจำ เตรียมหารือกับอาจารย์ มช. ขอโมเดลจัดการสุนัขจร พร้อมวางแผน 3 ระยะ เพื่อจัดการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

ความคืบหน้าปัญหาฝูงสุนัขจรจัด ครองพื้นที่บริเวณลานจอดรถศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ไปติดต่อราชการ รวมทั้งบุคลากรที่ทำงานภายในศูนย์ราชการ โดยที่ผ่านมามีคนโดนสุนัขไล่กัดมาแล้วหลายคน รวมทั้งยังถูกพวกมันกัดแทะและตะกุยรถที่จอดไว้จนเสียหาย แม้หลายปีที่ผ่านมาทางจังหวัดจะพยายามจัดระเบียบ แต่ก็ไม่เป็นผล

ล่าสุดวันนี้ (1 มีนาคม 2566) ทีมข่าวได้สำรวจพื้นที่บริเวณลานจอดรถข้างอาคารสำนักงานศูนย์ราชการจังหวัด พบว่ายังคงมีฝูงสุนัขหลายสิบตัวอยู่ในพื้นที่ บางส่วนนอนอาบแดดกลางถนน รถที่ผ่านไปมาต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ต้องคอยหลบและคอยระวังไม่ให้มันตามกัด

...

นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และทาง นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งให้แก้ปัญหาเร่งด่วน โดยสัปดาห์นี้จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าสำรวจจำนวนประชากรจำนวนฝูงสุนัข และแหล่งที่อยู่ของพวกมัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้จะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีโมเดลในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จมาหลายปี มาพูดคุยและร่วมแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้น ทางปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้วางมาตรการแก้ไขไว้สามระยะ โดยระยะสั้นจะแยกสุนัขที่มีพฤติกรรมดุร้ายในฝูงออกมาก่อน และจะติดต่อนำไปให้กับมูนิธิภาคเอกชนได้ดูแล ส่วนที่เหลือก็จะทำหมันเพื่อควบคุมประชากร รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเพื่อความปลอดภัย มาตรการระยะกลางก็คือ จะมีการทำหมันเพื่อควบคุมประชากรในส่วนที่เหลือ ซึ่งต้องมีความจำเป็นในการหลงเหลือไว้บางส่วน เนื่องจากพฤติกรรมของสุนัขจะหวงถิ่น หากนำไปทั้งหมดจะทำให้มีฝูงใหม่เข้ามาอยู่แทน ซึ่งกว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้อีก

นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่มีทั้งฝั่งคนรักสุนัขที่อาจมองว่าการเข้ามาจัดระเบียบเป็นการทำร้ายสัตว์ และฝั่งคนที่ต้องการให้เอาออกจากพื้นที่ไป ซึ่งก็จะต้องร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะมีการทำพื้นที่พักพิงให้กับสุนัขเหล่านี้ แต่เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาในการของบประมาณ และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน 1-2 ปี ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือสื่อช่วยประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนทั่วไปว่า จะต้องพิจารณาให้ดีว่า ตัวเองจะสามารถเลี้ยงสุนัขได้หรือไม่ เพราะหากเลี้ยงไม่ได้แล้วนำมาปล่อย ก็จะเกิดปัญหาเรื้อรังแบบนี้ตามมา

...

นางปภาศรี บุญจำ อายุ 62 ปี แม่ค้าที่ขายของอยู่บริเวณลานจอดรถ กล่าวว่า ขายของที่นี่มากว่า 20 ปี เห็นฝูงสุนัขมาโดยตลอด พวกมันเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาก็สร้างปัญหาไล่กัดคนที่ทำงานในส่วนราชการได้รับบาดเจ็บมาหลายคน บางคนโดนไล่จนต้องวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนกระบะรถที่จอดทิ้งไว้นานกว่าครึ่งชั่วโมงกว่าพวกมันจะไป สาเหตุหลักก็คือมีคนนำมาทิ้งไว้ บางทียังเคยเห็นใส่กล่องมาทิ้งไว้มาถึง 14 ตัว แล้วเขียนจดหมายฝากเลี้ยง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่รักสุนัข ที่ผ่านมาก็มักจะเอาอาหารมาให้พวกมันเพราะสงสาร แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะให้มีการจัดระเบียบ จะได้ไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น โดยอยากให้ทำหมันเพื่อควบคุมประชากร และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหาบ้านใหม่ให้มันมีชีวิตที่ดีขึ้น.