ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ผู้โดยสารสนามบินเพิ่ม 209% หลังโควิด ส่วนเที่ยวบินเพิ่มกว่า 90% เตรียมเปิดเส้นทางบินฤดูร้อน "คุนหมิง-เชียงใหม่" ช่วงปลายมีนาคม

วันที่ 1 มี.ค. 66 นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อํานวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ และนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงผลการดําเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยผู้อํานวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีอัตราการเจริญเติบโตในทิศทางขาขึ้นมาโดยตลอด มีจํานวนผู้โดยสารสูงสุดเมื่อปี 2562 ถึงกว่า 11 ล้าน 3 แสนคน และมีอัตราเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลังจากรัฐบาลไทยและทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางทําให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจํานวนเที่ยวบินและผู้โดยสารอีกครั้ง มีผลการดําเนินงานดังนี้

1.มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 39,027 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 90.88

2.มีจํานวนผู้โดยสาร 5.46 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 209.72

3.มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 5,588 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 68.42

ด้าน นายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ รองผู้อํานวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) กล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 24 สายการบิน ใน 30 เส้นทาง เป็นสายการบินภายในประเทศ 12 เส้นทาง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค และมีเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ถือว่าการให้บริการในภาพรวมกลับคืนมาแล้วกว่าร้อยละ 63 โดยเส้นทางล่าสุดที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในตารางฤดูร้อนคือช่วงปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ได้แก่ เส้นทาง คุนหมิง-เชียงใหม่

...

ขณะที่ นายสรายุทธ จําปา รองผู้อํานวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) เปิดเผยถึงผลประกอบการด้านการเงินว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับจํานวนผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่เคยมีกําไรสูงสุดในปี 2562 และขาดทุนครั้งแรกในปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงปี 2565 ทั้งนี้รายได้ที่ลดลงจํานวนมากคือรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นรายได้หลักจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน หรือ Non Aero เนื่องจาก ทอท.ได้มีนโยบาย ช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และปัจจุบันก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้านค้าต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการเต็มพื้นที่ ผลประกอบการก็คาดว่าจะกลับมาเป็นเชิงบวกได้ภายในปีนี้

สําหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งดําเนินการควบคู่ไปกับการจ้างออกแบบและจัดหาผู้รับจ้าง โดยคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในปีงบประมาณ 2566 นอกจากนี้ยังมีงานเร่งด่วนบรรเทาความแออัด ซึ่งเป็นงานก่อสร้างกลุ่มอาคารทดแทน ได้แก่ อาคารดับเพลิง อาคารคลังสินค้า และลานจอด GSE โดยอยู่ระหว่างเตรียมเข้ากระบวนการจัดหาภายในปีงบประมาณ 2566 นี้เช่นกัน

"ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกํากับดูแลของ ทอท. ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์มาอยู่ในความดูแลของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการในทุกๆ ด้าน ภายใต้มาตรฐานสากลและค่านิยมหลัก 5 ประการ ได้แก่ ให้ใจ มั่นใจ ร่วมใจ เปิดใจ และภูมิใจ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนหลักทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด"

ขณะเดียวกันก็ยังได้ตระหนักถึงการเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport) ซึ่งเป็นหนึ่งในการดําเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ของ ทอท. โดยได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้นําชุมชน ในการดูแลประชาชนยามที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤตการณ์ต่างๆ อาทิ การระบาดของโรคโควิด-19 อุทกภัย และปัญหาหมอกควันไฟป่า เป็นต้น.