สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ถือเป็นสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์แรกที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนกลายเป็นสายพันธุ์ของไทย เป็นการผสมผสานระหว่างสายพันธุ์พ่อสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 ที่นำเข้าจากอิสราเอล และสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ที่ถูกปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์โดยมูลนิธิโครงการหลวงมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นพันธุ์ลูกผสมจากประเทศญี่ปุ่น ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี 2557-2563 ตามโครงการวิจัย การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานิน ปัจจุบันทดลองปลูกจนได้ผลผลิตแล้วเป็นปีแรก และอยู่ระหว่างขั้นตอนวิจัยเทคนิคการปลูกให้ได้ผลผลิตดี เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกสร้างรายได้ให้เกษตรกร”

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งใน 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ หรือ IPITEX กับผลงานทำผลไม้ไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เล่าถึงที่มาของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 สายพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ โดยได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

...

หลังจากผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีทั้งสองสายพันธุ์แล้ว จึงนำเมล็ดลูกผสมรวม 300 เมล็ดมาเพาะ ต่อมาในปี 2560 ได้ทำการปลูกพันธุ์ลูกผสม และคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ผลมีลักษณะแดงเข้ม ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ มีความแน่นเนื้อสูง มีกลิ่นหอม และมีศักยภาพในการสร้างสารแอนโทไซยานินสูง และได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นโดยไหล ได้จำนวนทั้งสิ้น 500 ต้น

จากนั้นปี 2561–2563 ขยายต้นไหล 6,000 ต้น ปลูกคัดเลือกและทดสอบพันธุ์ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จนได้พันธุ์ที่มีความคงที่ และมีลักษณะผลสีส้มแดงถึงแดงเข้ม น้ำหนักผลเฉลี่ย 20.60 กรัม ความแน่นเนื้อเฉลี่ย 4.22 นิวตัน ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง (สารแอนโทไซยานิน) รวมเฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม น้ำหนักสดสูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1–2 เท่า ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี 2565

สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 มีความเหมาะสมที่จะนำมาทำสตรอว์เบอร์รีเกรดพรีเมียม เพราะผลใหญ่ กลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่น ทนทานต่อการขนส่ง มีวิตามินซีสูงกว่าพันธุ์อื่น ที่สำคัญมีสารแอนโทไซยานินมากกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 2 เท่า ที่เกิดจากการดึงจุดเด่นของสายพันธุ์พ่อสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 ที่นำเข้าจากอิสราเอล และสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ที่เป็นสายพันธุ์แม่ เข้ามารวมในตัว ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะสามารถส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจให้เกษตรกรได้”

รศ.ดร.พีระศักดิ์ อธิบายในตอนท้ายถึงการปลูกเบื้องต้นว่า สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้ชอบดินร่วน ที่มีค่าพีเอชต่ำ ไม่ชอบดินเป็นกรดหรือมีความชื้นสูง ชอบอากาศไม่หนาวจัด อุณหภูมิประมาณ 27°C ระหว่างปลูกต้องระวังเพลี้ยไฟและไร โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสูง

...

ฉะนั้นช่วงร้อนจัดควรพ่นน้ำคู่กับปิโตรเลียมออยล์ให้ชุ่มเพื่อเคลือบใบ แต่หากอาการหนัก จำเป็นต้องใช้สารเคมี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการใช้ไคโตซานและเมทิลจัสโมเนท ที่เป็นสารออร์แกนิกจากเปลือกกุ้งและเปลือกหอย ทดแทนการใช้สารเคมีอย่างที่เคยทำ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 06-3639-2697.

กรวัฒน์ วีนิล