สวพส.โชว์ผลงานพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กแก้ปัญหาภัยแล้ง ภายใต้แนวคิดการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาหมอกควัน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เผยว่า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างเร่งด่วน สวพส. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้น ทำให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการทำเกษตร มีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
“การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของชุมชน ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เมื่อชุมชนมีน้ำ ย่อมก่อให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาได้อย่างมีประโยชน์สูงสุดครบทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
ผอ.สวพส.เผยถึงผลการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ 359 ชุมชน ทำให้มีแหล่งน้ำ 523 แห่ง เป็นแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ 42 แห่ง และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 481 แห่ง มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นธรรมทั่วถึงเท่าเทียม และลดความขัดแย้ง
...
“ส่งผลให้ชุมชนมีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ จากเดิมอาศัยแต่น้ำฝนเป็นหลัก มีการพัฒนาอาชีพที่หลากหลาย สร้างรายได้ที่พอเพียง มีความมั่นคงด้านอาหาร กระจายการพัฒนา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชทางเลือกจากงานวิจัยทดแทนการปลูกพืชเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาวตลอดทั้งปี โดยปลูกพืชแบบประณีต ใช้พื้นที่น้อยรายได้สูง ใช้น้ำน้อยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดใช้สารเคมี ลดการเผาเศษพืช เพาะปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยผู้ได้รับประโยชน์ 12,225 ราย พื้นที่รับประโยชน์ 32,653 ไร่ แต่ในปี 2566 ยังคงมีความต้องการแหล่งน้ำอีก 60 ชุมชน 120 แห่ง”
นายวิรัตน์ เผยอีกว่า นอก จากนี้ชุมชนยังมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งแยกพื้นที่ป่า และที่ทำกิน ป้องกันการบุกรุกป่า 440 ชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร 1,104,038 ไร่ โดยการจัด ทำแนวกันไฟ ลาดตระเวนป้องกันไฟป่า จัดทำฝายชะลอน้ำ 79 แห่ง ปลูกเพื่อฟื้นฟูเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศต้นน้ำและเพิ่มพื้นที่สีเขียว 18,284 ไร่ ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้อย่างพอเพียง ส่งผล
ให้อัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนา คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน.