จ.เชียงใหม่ เคลื่อนขบวนปราสาทแห่ศพ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ออกจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ไปสู่เมรุพิธี วัดสวนดอก ทำพิธีส่งสการตานคาบ โดยมีชาวเชียงใหม่รอรับขบวนและแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จังหวัดเชียงใหม่ จัดขบวนเคลื่อนปราสาทและส่งสการตานคาบ นำสรีระร่างเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ออกจากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ไปสู่เมรุพิธี วัดสวนดอก อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจ ขบวนส่งสกานตานคาบเป็นขบวนแห่ศพของเจ้านาย ฝ่ายเหนือทางล้านนาที่ไม่ได้จัดขึ้นเต็มรูปแบบมานานหลายสิบปี โดยในริ้วขบวนประกอบเสลี่ยงแคร่ คานหาบ พระครูบาเทือง นาถสีโล เจ้าอาวาสวัดเด่นสะหลีเมืองแก่น อำเภอแม่แตง เทศน์นำหน้าขบวน ในขบวนมีพระสงฆ์สามเณร ลูกหลาน ช้างแก้ว รวมทั้งประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่พร้อมใจกันแต่งตัวด้วยชุดผ้าพื้นเมืองสีขาวร่วมขบวนจูงปราสาทกว่าสองพันคน

โดยตลอดเส้นทางของขบวนแห่ตั้งแต่หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เคลื่อนไปตามกำแพงเมืองด้านใน / ผ่านสวนบวกหาด / ผ่านประตูสวนปรุง เลี้ยวแยกประตูสวนดอก มายังวัดสวนดอกเป็นระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร โดยมีประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่มาเข้าชม และถ่ายภาพความยิ่งใหญ่งดงามของริ้วขบวน ที่ไม่ได้จัดขึ้นมานาน รวมทั้งร่วมไว้อาลัยแก่เจ้าดวงเดือน หรือ เจ้ายาย ที่ลูกหลานชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพรัก

...

หลังขบวนปราสาทเคลื่อนถึงหน้าวัดสวนดอกวรมหาวิหาร ได้มีประชาชนจำนวนมากมารอรับขบวน และร่วมไว้อาลัยเจ้าดวงเดือนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนสรีระเข้าไปในเมรุ วัดสวนดอก จะมีการประกอบพิธีถวายผ้าบังสุกุลและผ้าไตรบังสุกุล และประกอบพิธีทางศาสนา ก่อนจะประกอบพิธีฌาปนกิจ หรือ ที่คนทางล้านนาเรียกว่าส่งสการตานคาบในเวลาประมาณ 17.30 น.

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ภายในบ้านพักเลขที่ 39 ถนนจ่าบ้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สิริอายุ 93 ปี 7 เดือน

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ หรือ เจ้ายาย เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ และนักสังคมสงเคราะห์ ได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2558 โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และยังได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นบุคคลสำคัญในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยล้านนาเพื่อเป็นเกียรติประวัติและอนุสรณ์แห่งคุณความดี

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองที่ดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติและสังคมส่วนรวมมีความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด สมกับที่เป็นสตรีสูงศักดิ์ งามพร้อมด้วยกิริยามารยาทแบบกุลสตรีไทย ทั้งยังได้ดำรงเกียรติแห่งวงศ์ตระกูลได้อย่างสมบูรณ์ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ โปรดการแต่งกายแบบไทยล้านนาและรักที่จะส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่รักในความเป็นไทยและหวงแหนรักในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน ซึ่งเจ้ายายเป็นที่รักใคร่และนับถือของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป

...

ตลอดช่วงชีวิตเจ้าดวงเดือนได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา จนได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และยังได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่คนแรกในประเทศไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ที่มีความรักในท้องถิ่นวัฒนธรรมไทยล้านนาอย่างแรงกล้า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ที่อนุรักษ์และส่งเสริมการแต่งกายของสตรีในภาคเหนือด้วยผ้าไทย และจัดให้มีการนำเอาประเพณีการกินข้าวบนขันโตกแบบไทยล้านนากลับมาเผยแพร่จนได้รับความนิยมอีกครั้งในสมัยปัจจุบัน เป็นผู้อุทิศตนเพื่อการสังคมสงเคราะห์ การสาธารณกุศล และการศาสนกุศลอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งการถึงแก่กรรมโดยสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับลูกหลานและชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง.