กรมวิชาการเกษตรจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสด” ที่เชียงใหม่ โชว์เทคโนโลยีระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติ และโดรนถ่ายถาพประเมินสุขภาพพืช เพื่อเพิ่มการผลิต
วานนี้ (7 ก.พ. 2566) นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสด” ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ซึ่งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับ ถั่วเหลือง เป็นพืชเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชนของเกษตรกรมายาวนาน ในเชิงของวัฒนธรรมอาหารโปรตีนสูงที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันพืช อาหารสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ขนม และอาหารสุขภาพต่างๆ เป็นพืชบำรุงดินและสามารถตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงในระบบปลูกพืช และการเพาะปลูกใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวนาปรังและพืชไร่อื่นๆ บางชนิด
...
จากสถานการณ์การผลิตและการบริโภคถั่วหลือง พบว่า ในปี 2555-2564 การผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีพืชแข่งขันอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยล่าสุดในปี 2564 มีพื้นที่ปลูก 88,010 ไร่ ผลผลิต 23,482 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 267 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ความต้องการในการบริโภคถั่วเหลืองของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2563 มีปริมาณความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองถึง 3,763,823 ตัน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในขณะที่สามารถผลิตได้เพียง 22,800 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของประมาณความต้องการทั้งหมด และคาดว่าปริมาณความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นอีกในปีต่อไป รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศร่วมกัน กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายตลาดนำการผลิต และ ตลาดการนำการวิจัย การผลิตถั่วเหลืองเพื่อลดการขาดแคลนเป็นเรื่องที่ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ตุลาคม 2565 - กันยายน 2567 ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกของการดำเนินงานจึงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสด เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเหลืองฝักสดที่มีประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเด็นปัญหาการผลิตถั่วเหลืองฝักสด เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการผลิตถั่วเหลืองฝักสดที่มีประสิทธิภาพ
การจัดงานในครั้งนี้ประกอบด้วย กิจกรรมการบรรยายและการสาธิต เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ใช้ในแปลงเรียนรู้ ได้แก่ ระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติ การให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำ การใช้โดรนพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และการใช้ โดรนถ่ายถาพเพื่อประเมินสุขภาพพืช รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเด็นปัญหาการผลิตถั่วเหลืองฝักสด ระหว่างผู้เข้าร่วมชมงาน
...
ที่สำคัญโครงการนี้ได้ทำงานบูรณาการร่วมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานให้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้มีทั้ง หัวหน้าหน่วยงาน นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเอกชน เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองฝักสดและถั่วเหลือง รวมจำนวนประมาณ 100 คนเข้าร่วมชมงาน
...
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า การจัดงานในวันนี้นับว่ามีความสอดคล้องตามภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ในด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านถั่วเหลืองและพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญไปสู่เกษตรกร ซึ่งในการจัดงานในวันนี้จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองฝักสด โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในการผลิตถั่วเหลืองฝักสด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการผลิตให้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและแก้ปัญหาด้านแรงงานภาคการเกษตร รวมทั้งเป็นแนวทางเพื่อรองรับการผลิตด้านการเกษตรกรสมัยใหม่ในระยะยาวต่อไป.