จากพายุฝนที่ตกใน จ.ตาก และ จ.พะเยา ทำให้มี "อึ่งอ่าง" และ "แมงมัน" ออกมาจากรูในดินจำนวนมาก และมีประชาชนประกอบอาชีพเสริมด้วยการออกจับอึ่งอ่างและแมงมันไปขาย เพื่อทำอาหารท้องถิ่นเมนูพิเศษ สร้างรายได้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ...

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ จ.ตาก ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ทำให้มี อึ่งอ่าง ออกมาจากรูจำนวนมาก และมีประชาชนประกอบอาชีพเสริมด้วยการออกจับอึ่งอ่างขาย โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีป่าชุมชนที่อุดมสมบรูณ์ จะมีอึ่งอ่างจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านสามารถจับอึ่งอ่างออกไปขายได้ โดยจะวางขายตามถนนสายหลัก ที่มีประชาชนสัญจรผ่านไป-มา และส่งขายต่างจังหวัด สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะบริเวณที่มีอึ่งอ่างจำนวนมาก จะต้องมีป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันเก็บรักษาความอุดมสมบรูณ์ของธรรมชาติ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และชาวบ้านสามารถหารายได้เสริมให้กับตัวเองและครอบครัวได้ ด้วยการหาอาหารจากธรรมชาติได้ทุกปี หมุนเวียนกันไป เช่น ฤดูจับอึ่ง-หน่อไม้-ผักหวาน-อาหารป่า ฯลฯ หากป่าสมบรูณ์ ไม่ถูกบุกรุกทำลาย ความสมบูรณ์ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...

นายเดี่ยว แตงล้าน อายุ 37 ปี ชาวบ้านที่จับอึ่งอ่างมาขาย กล่าวว่า ใน จ.ตาก มีอึ่งอ่างจำนวนมาก เนื่องจากป่าไม้และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ที่ผ่านมาหลายปี เกษตรกรจับอึ่งขาย มีรายได้เฉลี่ยปีละ 30,000-50,000 บาทต่อครอบครัว โดยขายกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งในแต่ละปีจะมีอึ่งอ่างมากกว่าปีละ 80 ตัน หรือ 80,000 กก. มีเงินสะพัดได้อย่างน่าทึ่ง ในแต่ละปีกว่า 6,400,000 บาท ในพื้นที่ จ.ตาก ทั่วบริเวณ ทั้งพื้นที่ อ.แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง สามเงา บ้านตาก วังเจ้า และ อ.เมือง จ.ตาก ในช่วงฤดูฝน จะมีอึ่งอ่าง ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในป่า ออกจากรูจำศีลหากินแมลงและวางไข่ ทำให้ชาวบ้านได้ออกไปจับอึ่งขาย เพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ซึ่งปรากฏว่าการจับอึ่งขายนั้นได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างดี ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนวันละ 1,000-2,000 บาทต่อครอบครัว เฉลี่ยตลอดปีมีรายได้ถึง 30,000-50,000 บาท

ชาวบ้านที่จับอึ่งอ่างมาขาย กล่าวต่อว่า สำหรับอึ่งที่ชาวบ้านออกไปจับเป็นอึ่งป่าตามธรรมชาติ จะออกจากจำศีลในช่วงเดือน พ.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน โดยจะออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นฤดูกาลตามธรรมชาติของอึ่ง โดยชาวบ้านได้จับอึ่งมาประกอบอาหาร รับประทานทั้งสดและย่าง และนำมาจำหน่ายที่บริเวณริมทางถนนสายพหลโยธิน สายตาก-ลำปาง ให้ผู้ที่ผ่านไป-มา แวะซื้อเป็นของฝาก ราคาขายอึ่งสด กิโลกรัมละ 80 บาท อึ่งย่างกิโลกรัม 120-150 บาท แต่หากมีการส่งออกไปต่างจังหวัด ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว คือ อึ่งสด กก.ละ 150 บาท ส่วนอึ่งย่างราคาสูงถึง กก.ละ 250 บาท ชาวบ้านแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้อย่างดี

เช่นเดียวที่ จ.พะเยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน จ.พะเยา บริเวณที่สวนสาธารณะป่าละเมาะ ร้านอาหารร่มไม้แสงจันทร์ บ้านทุ่งบานเย็น และบริเวณหน้าโลตัส ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา พบชาวบ้านต่างถือขวดใส่น้ำค่อนก้นเก็บแมงมันที่โผล่ออกจากโพรงดิน ลักษณะของแมงมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวโตเต็มที่ขนาดเท่ามดดำโข่ง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน หัว-อก-ท้อง มี 6 ขา 4 ปีก ลำตัวออกสีน้ำตาลอมแดง ชาวบ้านชอบนำไปทอดกินกับข้าวเหนียว ประกอบด้วย น้ำพริกแมงดานา หรือน้ำพริกปลาร้า กับแกล้มหน่อกุ๊ก หน่อข่า ผักสีเสียดและผักต่างๆ ที่ชอบรสชาติของแมงมัน จะออกมันๆ สมชื่อขายหน้าเสื่อราคา 1,000 บาท ผ่านพ่อค้า-แม่ค้าคนกลาง ราคาจะกระโดดถึง 1,500 บาทเลยทีเดียว

ชาวบ้านที่ออกมาจับแมงมัน ต่างระบุว่า ปีนี้ฝนมาเร็วกว่าทุกปี เมื่อสองสามวันก่อนฝนตกหนักมากจนผืนดินชุ่มชื่น พอแดดออกส่องลงมาทำให้โพรงดินร้อนระอุ ทำให้แมงมันลนลานบินออกจากรู โดยตามปกติแมงมันจะออกช่วงตอนเย็น ยามแดดส่องเท่านั้น แต่ที่ อ.เชียงคำ มาแปลก เพราะแมงมันออกกลางคืนช่วงเวลา 2-3 ทุ่มถึงเที่ยงคืน แต่ออกเวลาใดไม่สำคัญ ชาวบ้านว่าขอให้ได้เก็บกิน เพราะเป็นอาหารสุดอร่อย ถือเป็นอาหารประจำช่วงฤดูกาล และประจำท้องถิ่น มีกินปีละครั้งของชาวเหนือ.