กมธ.ดีอีเอส จับมือ รัฐ-เอกชน เปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ จ.เชียงราย หวังสร้างอาชีพใหม่ให้เด็กไทย ป้อนสู่ตลาดโลก หลังพบตัวเลขขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ขณะที่ "เศรษฐพงค์" ชี้ ตลาดโลกยังขาดแคลนนักวิเคราะห์ข้อมูล ชี้มูลค่าธุรกิจอวกาศในตลาดโลกจำนวนมหาศาล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธาน กมธ.ดีอีเอส พร้อมด้วยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษา กมธ.ดีอีเอส และ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะละสุวรรณ ประธานคณะอนุ กมธ.กิจการอวกาศ เพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ลงพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ร่วมกันเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ และทำให้ภาคเหนือมีศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ดาวเทียมสำรวจโลก ภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ที่ทันสมัย แก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จ.เชียงราย ตลอดจนการสร้างและพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมให้การสนับสนุน อาทิ บริษัท ไทยคม จำกัด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรู และบริษัท เทโร สเปซ จำกัด
น.ส.กัลยา ให้เหตุผลในการเลือกวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศนำร่องว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาภัยพิบัติน้ำป่า-ดินถล่ม จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยพยากรณ์สถานการณ์ ขณะเดียวกันต้องการเสริมองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ โดยใช้วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้าเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนประเมินผลและขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค
...
ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด ทำให้หลายอาชีพเกิดการเปลี่ยนแปลง และบางอาชีพสุ่มเสี่ยงที่จะสูญหายไปในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหากเด็กและเยาวชนไทยยังได้รับการศึกษาตามหลักสูตรเดิม อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถหางานทำได้ แต่เทคโนโลยีอวกาศจะเป็นองค์ความรู้ที่มารองรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ขณะที่ปัจจุบันไทย ยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้จำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและเสริมองค์ความรู้ให้กับเยาวชนเหล่านี้เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งยังมีความต้องการสูงในระยะ 5-10 ปีนี้ โดยมั่นใจว่าหากเด็กไทยได้รับการศึกษาด้านนี้จะไม่ตกงานอย่างแน่นอน
"สถาบันการศึกษาที่ยังใช้หลักสูตรเดิมๆ อาจจะไม่ได้สร้างบุคลากรออกมารองรับตลาดยุคใหม่ ทำให้การผลิตนักศึกษาออกมาก็หางานทำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับความรู้ใหม่ให้ทันกับโลกอนาคต และตอบโจทย์ตลาดโลก โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่ายังขาดแคลนนักวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้นตรงนี้จะเป็นอาชีพใหม่ที่กำลังเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่มูลค่าเทคโนโลยีอวกาศมีมหาศาล เรียกว่าผลิตคนออกมาเท่าไหร่ ก็ไม่เพียงพอกับตลาด ดังนั้นหากเด็กไทยมีความรู้ด้านนี้ รับรองมีงานทำอย่างแน่นอน" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
ด้าน นายอภิชัย เรืองศิริปิยะกุล ซีอีโอ บริษัท เทโร ซอฟต์ เปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีมาร่วมสนับสนุนว่า ทางบริษัทมีหลากหลายเทคโนโลยีที่จะนำมาให้การสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทยและการพัฒนาชุมชนชายขอบ อาทิ บล็อกเชนและแพลตฟอร์ม คาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยเหลือเรื่องการดูแลรักษาป่า การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จากการเป็นคาร์บอน เครดิต กลับมาขายต่อเป็นรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้เทโร ซอฟต์ กำลังโฟกัสเรื่องอวกาศดาวเทียม เพื่อการพยากรณ์ผลผลิตในแปลงเกษตรล่วงหน้า ซึ่งจะสามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วย ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับประชาชน
ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงห้อง สเต็มแล็บว่า เป็นห้องทดลองให้นักเรียน-นักศึกษา ได้สร้างนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันขยายไปกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และมีการขยายองค์ความรู้จากเดิมเฉพาะระดับมัธยมศึกษา มาเป็นระดับประถมศึกษาด้วย เพื่อนักเรียนที่มีความสนใจในระดับเริ่มต้นจะเข้ามาเรียนรู้และทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ปัจจุบันวิธีการคิดและเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นตัวรองรับโลกกำลังพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานได้ มีทักษะใช้ชีวิต
...
นายเรวัตร แก้วทองมูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า กล่าวขอบคุณ กมธ.ดีอีเอส และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในด้านนี้ ซึ่งพบว่านักเรียนที่นี่ตื่นเต้นกับการเรียนรูปแบบใหม่ ที่ในอดีตถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สามารถจับต้องได้ การติดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศจึงถือเป็นการจุดประกายฝันให้กับนักศึกษา และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับเด็กไทยเข้าสู่องค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ