ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอที่ได้รับการยกระดับเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์พืชท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.)
ด้วยการน้อมนำหลักการของโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ หรือ “Food Bank” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 จนทำให้ปัจจุบันบ้านห้วยอีค่าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 6,000 ไร่ มีความหลากหลายพันธุ์พืชกว่า 275 ชนิด และนำมาเพาะปลูกพืชท้องถิ่นไว้ใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ทำการเกษตรรวมทั้งบริเวณครัวเรือนอีกกว่า 98 ชนิด
...
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบ้านห้วยอีค่าง เป็นชุมชนต้นแบบ Food Bank ที่มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่น และมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมาจากวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อ ใช้วิถีชีวิตพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกับป่ามายาวนาน ทำให้ชาวบ้านรู้จักพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์ การดูแล และรักษาป่าเป็นอย่างดี หากพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะลงมืออนุรักษ์ โดยมีพิธี “หลื่อป่า” ไหว้เจ้าป่า เจ้าเขา ให้ช่วยปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ห้ามใครบุกรุก ทำลาย หรือล่าสัตว์ เด็ดขาด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีกับตนเองและครอบครัว”
ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) บอกอีกว่า ในอดีตการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ โดยพิธีกรรมสำคัญ เมื่อในหมู่บ้านมีเด็กเกิดใหม่ พ่อและแม่จะต้องนำรกเด็กมาใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกกับต้นไม้ไว้ ต้นไม้ต้นนั้นจะกลายเป็น “เดปอ” (ขวัญ) ของลูก เมื่อเขาเติบโตขึ้นจะมีความรู้สึกผูกพันและต้องอนุรักษ์ต้นไม้ไว้ชั่วชีวิต
แม้ในช่วงที่ผ่านมา มีการเข้ามาของคนภายนอกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและความเชื่อของชุมชนห้วยอีค่าง มีส่วนทำให้ทรัพยากรป่าธรรมชาติรอบๆชุมชนถูกทำลายไปในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติ และความยากแค้นของอาหารในชุมชน ชาวบ้านในชุมชนจึงได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา และเริ่มตระหนักถึงคุณค่าการรักษาป่า โดยมีคำมั่นของชุมชนที่ว่า...
“พวกเราชาวบ้านห้วยอีค่างจะดูแลรักษาผืนป่านี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พวกเราจะรักษาไว้เพื่อเป็นสมบัติให้แก่ลูกหลานและประเทศชาติสืบไป”
...
ดร.จารุณี กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยอีค่างเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชุมชน โดยมีฐานการเรียนรู้ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ดิน น้ำ ป่าไม้ และคน ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่น เพื่อเป็นธนาคารอาหารของชุมชน การรวบรวมความหลากหลาย ของเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น การย้อมสีธรรมชาติและงานหัตถกรรมของชุมชน การใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรในการดูแลสุขภาพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าผู้หญิง
และที่สำคัญการอนุรักษ์พิธีกรรมเดปอตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ กุศโลบายในการสร้างป่าให้สมบูรณ์ได้คงอยู่ตลอดไป.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน