เฮลั่นกันทั้งจังหวัด “ยูเนสโกยกย่อง จ.พะเยา” เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก (Phayao Learning City) จุดกระแสสร้างโมเดลระบบการพัฒนาเมืองวิถีใหม่ “ตรงตามมาตรฐานระดับสากล” เพื่อขานรับแนวคิด กลไกการบริหารจัดการเมืองเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้วยการใช้หลัก “องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความร่วมมือระดับ พื้นที่เป็นตัวกลาง” ในการขับเคลื่อนพัฒนาความสุข และสร้างรายได้ให้คน พะเยาตรงตามหลักเกณฑ์จนได้รับรองจาก “องค์การยูเนสโก” เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (UNESCO Global Network of Learning Cities) ปี 2565

ภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง ม.พะเยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา (อบจ.) เทศบาลเมืองพะเยา ชุมชนพะเยา และหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) ผลักดันโครงการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ครั้งนี้ รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผช.อธิการบดี ม.พะเยา ให้ข้อมูลว่า

...

นับแต่การระบาดโควิด-19 มีผู้ตกงานกลับภูมิลำเนามากขึ้น ทำให้ “ม.พะเยา” มีแนวคิดอยากเพิ่มทักษะบางอย่างให้คนพะเยามีวิชาติดตัวไว้จนกลายมาเป็น “โครงการแหล่งเรียนรู้เพิ่มทักษะตลอดชีวิต” เน้นการประกอบอาชีพของยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้คนทนทานต่อการเอาตัวรอดในสิ่งที่ไม่แน่นอนอันจะเกิดขึ้นในอนาคต

เริ่มจากทำวิจัยแหล่งเรียนรู้ทันสมัย ใกล้บ้านสร้างรายได้มา 2 ปี ปรากฏพบภูมิปัญญาท้องถิ่นใน จ.พะเยา สามารถหยิบยกนำมาสร้างอาชีพสร้างรายได้เยอะแยะมากมาย เช่น การทำบ้านดิน การจักสานผักตบชวาเป็นกระเป๋า และผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆที่กำลังสร้างความสนใจให้ลูกค้าอย่างกว้างขวางอยู่ตอนนี้

แล้วก็ปรากฏเห็นสิ่งที่ขาดไปคือ “กระบวนการความคิดสร้างสรรค์” ที่เป็นตัวหนุนเสริมต่อยอดในการพัฒนาสินค้าให้โดนใจผู้บริโภคแม้แต่ “ผู้มีความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น” ก็ไม่สามารถก้าวมาเป็นวิทยากร หรือ นวัตกรชุมชนถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ได้ด้วย

เช่นนี้ “จึงสร้างโมเดลแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกว๊านพะเยา” นำมาพัฒนาแบบบูรณาการผสมผสานองค์ความรู้ทางวิชาการดีไซน์ติ๊งกิ้ง (Design Thinking) กลายเป็นหลักสูตร UP to Upskill/Reskill/ New skill บรรจุใน ม.พะเยา เพื่อแรงงานนอกระบบตกงานสามารถเข้าถึงการศึกษาพร้อมมีใบประกาศจบหลักสูตรให้ด้วย

ทว่า 3 หลักสูตรนี้ก็คือ 1.หลักสูตรกิจกรรมการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ 2.หลักสูตรท้องถิ่นกับเทคโนโลยี “โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนสิ่งใดก็ได้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น” โดยปราชญ์ชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ผ่านการคัดเลือกเข้ามาหมุนเวียนเป็นวิทยากรให้ความรู้นี้เก็บหน่วยกิต 15-45 ชั่วโมง

ในส่วน “ปราชญ์ชุมชน หรือนวัตกรชุมชน” ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1.สามารถออกข้อสอบประเมินผลผู้เรียนได้ 2.มีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นคิดค้นขึ้นเป็นของตัวเอง 3.มีจิตใจกว้างขวางอยากถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นแท้จริง ดังนั้นแม้ “บุคคลนั้นจะมีวุฒิการศึกษาป.6” แต่ถ้าเข้าคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ก็สามารถเข้ามาเป็นผู้สอนได้

ถ้าผู้เรียนจบ 2 หลักสูตรนั้นแล้วยังสามารถเรียนต่อในหลักสูตรที่ 3 ด้านการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมจากสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีม.พะเยา เป็นหลักสูตรเข้มข้นมีโอกาสขอทุนต่อยอดทำสตาร์ตอัพด้วย

สิ่งนี้ทำให้ “ผู้เรียนแต่ละหลักสูตร” มีความสนใจกลับเข้ามาเรียนซ้ำอีก ในปีแรกสูงกว่า 50% ของจำนวนผู้เข้าเรียนทั้งหมด 4 พันคน ปีที่ 2 สูงกว่า 50% ของจำนวนผู้เข้าเรียนทั้งหมด 5 หมื่นคน ในจำนวนนี้มีผู้นำความรู้ออกไปต่อยอดกลายเป็น “นวัตกรชุมชน” สร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ขยายออกสู่อำเภออื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

...

อย่างเช่น “ชุมชนเทศบาลเมืองพะเยา” สามารถสร้างเครือข่ายให้เกิดการรวมกลุ่มสานใจฮักมีสมาชิก 41 คน สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ โลโก้ และขายสร้างรายได้ สะท้อนให้เห็นความนิยมวัดเป็นตัวเลขที่ “คนพะเยา” เปิดรับกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนก้าวไปสู่ยูเนสโกด้วยกัน

ถัดมาผลตอบรับ “เชิงความสุข” ตามการสัมภาษณ์ผู้เข้าโครงการต่างมีความสุขที่มีโอกาสเจอเพื่อนได้ระบายความทุกข์สร้างเครือข่ายเกื้อกูลต่อกัน “ด้านวิชาการ” ม.หาดใหญ่ ก็มาเรียนรู้การดำเนินโครงการ นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ตัวเอง และเทศบาลอุตรดิตถ์ก็นำนักเรียน 200 คน มาดูงานด้วยเช่นกัน

ประเด็น “การได้รับรองเป็นภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก” เรื่องนี้เรามีแนวคิดตั้งเป้ามาตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่ด้วยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะ “องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา” ต้องเป็นผู้ลงชื่อเซ็นใบสมัครส่งไปยังยูเนสโก

เพราะด้วย “ม.พะเยา” เป็นเพียงแกนนำหลักในการนำเมืองเข้า “ยูเนสโก” แต่ผู้ลงนามต้องเป็นนายก อบจ.ขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นคำว่า “ยูเนสโก” จึงเป็นเหมือนเครื่องมือกลางประสานความร่วมมือกันทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ทั้ง ม.พะเยา อบจ. เทศบาลเมือง หอการค้า และชุมชนจังหวัดพะเยา

เพื่อการขับเคลื่อนเมืองตามหลักการ UNESCO GNLC ด้วยกลไกการบริหารจัดการเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการสร้างงาน มุ่งเน้นการพัฒนาคนผ่านกระบวนการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานหลักขยายไปทั้งจังหวัด

...

ส่วนขั้นตอน “การประเมินรับรองของยูเนสโก” เน้นตอบคำถามแสดงวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อัตราผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ประโยชน์ที่ได้รับ การสร้างงาน กิจกรรมเด่น จนคณะกรรมการยูเนสโกประเทศ ไทยให้เป็นตัวแทนลำดับที่ 1 เข้าเป็นสมาชิก UNESCO Global Network of Learning Cities ในปี 2565

“คนพะเยารู้สึกตื่นเต้นกับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระดับผู้บริหารเมืองขับเคลื่อนสู่เมืองสร้างสรรค์ (Creative City UNESCO) โดยเฉพาะเทศบาลเมืองพะเยาบรรจุแผนพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แล้ว” รศ.ดร.ผณินทราว่า

ความจริงแล้ว “เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก” เป็นการพัฒนาคนให้เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2030 แก่ประเทศได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนี้ “สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประเทศสมาชิก” ด้วยการประชุมแลกเปลี่ยนการพัฒนาเมือง

...

ทั้งการจัดอีเวนต์ระดมทรัพยากร จัดงานระดับนานาชาติร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทาง เทคโนโลยี และเทคนิคการพัฒนาเมืองจากกลุ่มผู้นำ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองระดับโลก รวมถึงการประสานความร่วมมือกับเมืองอื่นๆในต่างประเทศอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นตั้งแต่ปีที่ 2 “ยูเนสโก” จะส่งเจ้าหน้าที่มาดูผลการดำเนินงานต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าปีใดไม่มีการส่งรายงานความคืบหน้า หรือไม่มีกิจกรรมเรียนรู้เกิดขึ้น “ต้องพ้นสภาพความเป็นสมาชิก” ดังนั้นเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว “จะไม่สามารถย่ำอยู่กับที่ได้ต้องมีพลวัตเคลื่อนไหว” ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆพัฒนาเมืองอยู่ตลอดเวลา

นั้นก็คือ “อาจต้องมีการประชุมฟอรั่ม (Forum) ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดเยอะขึ้น” แล้วใช้ความเป็นสมาชิกของยูเนสโกนี้ ดึงนานาชาติมาจัดการประชุมที่ จ.พะเยา ได้ด้วย เพื่อโปรโมตเมืองขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆของพะเยาในอนาคต

ย้ำตามที่เคยมีการศึกษาพบว่า “พะเยา” เป็นจังหวัดที่เหมาะกับ “คนวัยเกษียณ” เดินทางมาเพื่อพักผ่อนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วการเรียนรู้นี้ “สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอายุยืนขึ้น” จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติวัยเกษียณเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้อีกมากมายด้วยซ้ำ

นี่คือจุดเริ่มต้น “การขับเคลื่อนเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แบบสมาร์ทลิฟวิ่ง (SMART LIVING)” เพื่อให้ จ.พะเยา เป็นแหล่งเรียนรู้ และควบคู่การท่องเที่ยว อันจะสร้างเม็ดเงินสู่ชุมชนในอนาคต.