"พระนาย สุวรรณรัฐ"  เป็นประธานเปิดกิจกรรมช้างไถนา ภูมิปัญญาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย เพื่อสืบสานตำนานช้างไถนา 100 ปี ภูมิปัญญาชาวกระเหรี่ยง นักท่องเที่ยวแห่ชมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.08 น.วันที่ 8 ส.ค. ที่แปลงนาข้าวอินทรีย์ บ้านแสนดอยรีสอร์ท แอนด์ สปา หมู่บ้านในฝัน ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะอดีตนายอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรมช้างไถนา ภูมิปัญญาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย เพื่อสืบสานตำนานช้างไถนา 100 ปี โดยมีนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายฮาเกิน เอ.เว.เดียร์คเซิน กงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีประจำ จังหวัดเชียงใหม่ นางวันเพ็ญ ศักดาทร เจ้าของหมู่บ้านในฝันสถานที่ใช้ในการจัดงาน นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน นายอำเภออมก๋อยนายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่  นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแอลลี่  นายอัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสบันงา และสายการบินนกแอร์มาร่วมงานพร้อม นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 

ก่อนจะมีการสาธิตช้างไถนา มีพิธีฮ้องขวัญข้าวและฟ้อนปูจาผีฟ้านาข้าว แบบกระเหรี่ยง โดยจะมีการแต่งกายแบบชาวเขากระเหรี่ยงโบราณมาทำพิธีและร่ายรำอยู่กลางทุ่งนา จากนั้นนายพระนายและนายฮาเกิน ได้ขึ้นหลังพลายสมใจและพังขวัญจิตจากปางช้างแอลลี่ อ.แม่แตง เพื่อไถนา 1 รอบ โดยมีควาญช้างชาวกะเหรี่ยงปะกากญอให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะทำพิธีดำนาเพื่อปลูกข้าว 4 สายพันธุ์ในแปลงนาเนื้อที่ 8 ไร่ คือข้าวหอมมะลิสันป่าตอง ข้าวก่ำดอยสะเก็ด ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล  เป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ของท้องถิ่น โดยเฉพาะข้าวก่ำมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในฐานะพญาข้าวที่มีการสังเคราะห์และ ปล่อยสารป้องกันแมลงและโรคแก่ข้าวพันธุ์อื่นที่ปลูกอยู่ใกล้เคียง จึงนิยมปลูกไว้ที่หัวนาเพื่อให้น้ำที่ปล่อยเข้านาไหลผ่านต้นข้าวก่ำก่อน  นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวนมากที่มานั่งชม จึงขอร่วมในการปลูกข้าวในครั้งนี้เพื่อจะซึมซับวิถีชีวิตชาวนานไทย 

นายพระนาย กล่าวว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการกระตุ้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้รู้จักการไถนา แล้ว ยังทำให้ประชาชนทั่วโลกได้รับรู้ว่าการใช้ช้างไถนาเป็นเรื่องจริงกว่า 100 ปี เป็นวิถีของชนเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน ม.3 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ช้างไถนามาหลายชั่วอายุคนแต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะสภาพพื้นที่ อ.อมก๋อย อยู่บนยอดเขาและห่างไกล  

ด้าน นางวันเพ็ญ ศักดาทร ผู้จัดงาน กล่าวว่า  การใช้ช้างไถนาความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน หมู่ 3 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้ช้างไถนามาหลายชั่วอายุคนแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งอยู่บนยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 – 1,600 เมตร และตัวอ.อมก๋อยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึง 179 กิโลเมตร ขณะที่บ้านนาเกียนเอง แม้จะอยู่ห่างตัวอำเภอเพียง 39 กิโลเมตร แต่ใช้ระยะเวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมง ด้วยความทุรกันดารของหนทาง จึงยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาดำแบบขั้นบันได และปลูกพืชไร่เพื่อเลี้ยงชีพ และข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์อันเป็นที่ลาดเชิงเขา มีหินปะปนอยู่มาก ทำให้การไถนาด้วยควายทำงานได้น้อยและเหนื่อยง่าย ประกอบกับในวิถีชีวิตชาวบ้านราว 100 ครัวเรือน หรือ 500 กว่าคน เลี้ยงช้างไว้ 20 กว่าตัว แต่ปล่อยให้หากินเองในป่า เมื่อถึงฤดูกาลทำนา จึงเข้าไปจับช้างที่เลี้ยงไว้มาไถนา เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ใหญ่ แข็งแรงกว่าวัว ควาย และยังสามารถไถนาได้พื้นที่มากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากัน โดย 1 แรงช้าง เท่ากับ 4 แรงวัว/ควาย นั่นหมายความว่าช้าง 1 เชือก ลากคันไถได้ตั้งแต่ 1-4 คันไถ แถมยังไม่ต้องพักเหนื่อย เพราะการไถนาถือเป็นงานเบาสำหรับช้าง เมื่อเทียบกับงานลากไม้ซุงในอดีตความแตกต่างอีกประการหนึ่งของการใช้ช้าง กับวัวหรือควาย ก็คือช้างไถนา 1 เชือก ต้องใช้คนถึง 3 คนเป็นอย่างน้อย โดยคนแรกคือควาญบังคับช้าง คนที่ 2 รับหน้าที่จูงช้างให้เดินตามแนวที่ต้องการไถ และคนสุดท้ายจับคันไถ ขณะที่วัว หรือควาย ใช้เพียงคนเดียวก็สามารถไถนาได้ ดังนั้นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน จึงนิยมไถนาในลักษณะ"ลงแขก" หมุนเวียนช่วยกันจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทว่าระยะหลังความเจริญหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น รถไถนามีบทบาทค่อนข้างสูง ส่งผลให้การใช้ช้างลดลง แต่ปัญหาวิกฤติน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาพึ่งพาช้างไถนาอีก จนเชื่อมั่นได้ว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษบ้านนาเกียน จะยังคงอยู่ และสืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป

...