ผู้ว่าฯ ตาก ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำวัง ในพื้นที่บ้านแม่เชียงราย อ.สามเงา และเยี่ยมบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำจากห้วยแม่เชียงรายเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาในระยะสั้น

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทำให้มีการปล่อยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวังตามหลักเกณฑ์เฝ้าระวังรักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้แม่น้ำวังเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่หมู่ที่ 7 และ 12 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ อ.แม่พริก จ.ลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดตากและคณะ ได้เดินทางไปติดตามพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม หมู่ที่ 7 ต.ยกกระบัตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำวัง และติดกับลำห้วยแม่เชียงราย โดยปัจจุบันลำห้วยแม่เชียงราย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำวัง ได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ติดกับลำน้ำ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 75 ครัวเรือน

โดยล่าสุด เย็นวานนี้ คันดินกั้นน้ำที่บริเวณหน้าวัดวังน้ำผึ้ง หมู่ที่ 3 ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก ได้พังลง ทำให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมพื้นที่ หมู่ที่ 8-หมู่ที่ 10 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก โครงการชลประทานตาก พร้อมกำลังพลจาก มทบ.310 ได้นำถุงบิ๊กแบ็ก จำนวน 30 ถุง น้ำหนักถุงละ 1 ตัน โยนลงร่องน้ำที่ขาด เพื่อลดแรงดันน้ำ เนื่องจากร่องที่ขาดลึก และได้รับเสาเข็มจากเขื่อนภูมิพล มาดำเนินการกันน้ำมวลน้ำที่พังเข้ามาจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่นา ทาง สนง.ปภ.ตาก เตรียมเรือไฟเบอร์จำนวน 2 ลำ พร้อมสนับสนุน อบต.ยกกระบัตร เพื่อให้ประชาชนที่มีน้ำท่วมสูงใช้เข้าออกพื้นที่

...

ด้าน นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายวัฒนา สาคร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตาก นางเพชรศร ไชยมณี นายกกิ่งกาชาดอำเภอสามเงา นายวรเศรษฐ์ ทิอุด กำนันตำบลยกกระบัตร นายภัทรชนน์ บุญมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยกกระบัตร จิตอาสาพระราชทาน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำวัง ในพื้นที่บ้านแม่เชียงราย อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และเยี่ยมบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำจากห้วยแม่เชียงรายเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน

ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ได้แก่ ทำเขื่อนป้องกันตลิ่งในพื้นที่เสี่ยง เพื่อไม่ให้น้ำในแม่น้ำวังเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เพิ่มเติม รวมถึงให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและดำเนินการมอบสิ่งของจำเป็นในการยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ให้มีการทำการศึกษาลุ่มแม่น้ำวัง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.