ลำปางน้ำท่วมหลายอำเภอหลังฝนตก ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วลมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้ว่าฯ เร่งลงพื้นที่ประเมิน สั่งเตรียมยกระดับเปิดประตูพร่องน้ำเพิ่ม แจ้งเตือนพื้นที่ลุ่มต่ำเฝ้าระวังใกล้ชิด

กรณีหลายเขตท้องที่ของจังหวัดลำปาง ได้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อช่วงวันที่ 24-25 สิงหาคม 2565 อันเป็นผลมาจากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อนกำลังแรง “หมาอ้อน” (MA-ON) บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งได้ส่งผลทำให้น้ำในบริเวณพื้นที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และได้เกิดน้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งท่วมชุมชนพื้นที่ในหลายอำเภอ โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 มีรายงานฝนตกหนักเกิดเหตุอุทกภัยใน 4 อำเภอ 10 ตำบล ทั้งในเขตท้องที่อำเภอเมืองลำปาง เกาะคา แจ้ห่ม และแม่ทะ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทางพื้นที่ตอนบนของจังหวัด ได้ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนกิ่วลมในอัตราเพิ่มสูงขึ้น โดยทางหน่วยงานชลประทานได้คาดการณ์ว่า จะมีมวลน้ำไหลเข้าเขื่อนกิ่วลมอีกต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกินความจุกักเก็บของเขื่อน และอาจจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเพิ่มขึ้นหากในพื้นที่ยังคงมีฝนตก

...

ต่อมาเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (26 ส.ค.65) เวลาประมาณ 16.30 น.นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ เรียกประชุมหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อน และวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีปริมาณมากในขณะนี้ ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด

จากการณ์ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนกิ่วลม พบว่าปัจจุบันได้มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนกิ่วลมในอัตรากว่า 200 ลบ.ม./วินาที หรือ 2.16 ล้าน ลบ.ม./ชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มระดับจาก 74 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงเช้าของวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เป็น 82.5 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงเย็นของวัน และจากสถานการณ์ฝนตกหนักคาดการณ์ว่าจะยังคงมีปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลเข้าเขื่อนกิ่วลมอย่างต่อเนื่อง ประมาณกว่า 30 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บของเขื่อน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา จะต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำวัง เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าไหลออก ให้ตัวเขื่อนมีความปลอดภัยและสามารถที่จะควบคุมระดับน้ำช่วยในการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย รวมถึงยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างในการรองรับปริมาณน้ำ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในกรณีฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่

...

จากผลการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้หน่วยงานชลประทานเฝ้าคอยติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อน พยายามรักษาระดับอัตราการระบายน้ำไว้ที่อัตรา 150 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งให้น้อยที่สุด แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นยังคงมีฝนตกในพื้นที่ และมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 90 ของความจุ ก็ให้ทางชลประทานเร่งดำเนินการยกระดับเปิดประตูเพิ่มการระบายน้ำให้มากขึ้นในอัตรา 151-200 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ให้ประเมินสถานการณ์ทุกๆ ชั่วโมง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยไว้ให้พร้อม และออกประกาศแจ้งเตือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัง ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เร่งทำการเสริมแนวตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ และเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ขึ้นไว้ในที่สูงก่อนล่วงหน้า

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำ พบว่า ขณะนี้ น้ำในแม่น้ำวังที่ไหลผ่านตัวเมืองลำปาง ยังคงมีระดับน้ำที่สูงอยู่ ซึ่งเช้าวันนี้ (26 สิงหาคม 2565) มีรายงานระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ W.1C บริเวณสะพานเสตุวารี สูงถึงระดับ 3.5-4.0 เมตร เริ่มใกล้ถึงจุดระดับน้ำที่จะเต็มตลิ่ง คือ 5.20 เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านเกือบ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มากกว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนกิ่วลม ทั้งนี้เนื่องจากตามเส้นทางที่น้ำไหลผ่านยังมีมวลน้ำสาขาจากลำห้วยต่างๆ ไหลลงมาสมทบระหว่างทาง

...

สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลุ่มต่ำอาจถูกน้ำท่วมได้ ถ้าหากว่าพื้นที่ทางตอนเหนือมีฝนตกลงมา สำหรับในส่วนสภาพอากาศบริเวณพื้นที่จังหวัดลำปาง ขณะนี้อากาศเริ่มเปิดแจ่มใสมากขึ้นแต่ยังคงมีเมฆมากและอาจเกิดฝนตกหนักซ้ำลงมาได้อีก ทำให้ทุกพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนยังคงต้องทำการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป

จากนั้น ผวจ.ลำปาง ได้เดินทางลงพื้นที่ร่วมประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตท้องที่ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม เพื่อติดตามรับทราบสถานการณ์ความเสียหาย และร่วมหารือแนวทางมาตรการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ได้รับรายงานความเสียหาย เบื้องต้นมีชุมชน 50 หมู่บ้าน ในเขตท้องที่ 5 ตำบล ของอำเภอแจ้ห่ม ทั้งตำบลเมืองมาย แจ้ห่ม วิเซตนคร ปงดอน และตำบลบ้านสา ถูกน้ำป่าไหลหลากเอ่อน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร โดยมีพื้นที่นาข้าว พืชสวน พืชไร่ ถูกน้ำป่าไหลหลากพัดพาเสียหายรวมหลายพันไร่ / มีพนังกั้นน้ำ / ตลิ่งลำห้วย / ถนน / สะพาน ถูกน้ำเซาะพัง

...

รวมทั้งมีรายงานอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 2 แห่ง ในเขตท้องที่เกิดการรั่วซึมมีน้ำไหลออกจากบริเวณดินด้านนอกใต้สันอ่าง โดยชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่าสันอ่างจะเกิดการทรุดตัวปริแตกและพังทลายโดยจากรายงานความเสียหาย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้ทางหน่วยงานกรมชลประทานทำการสำรวจตรวจสอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้เข้าดำเนินการสำรวจสภาพอ่างพร้อมทำการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งระบายน้ำออก เพื่อลดแรงดันน้ำภายในอ่าง โดยหลังจากนี้จะได้มีการประสานหน่วยงานส่วนกลางจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ประเมินสภาพความเสียหายเชิงลึก และเมื่อฤดูมรสุมผ่านพ้นจะได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมสันอ่างให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ต่อไป

ส่วนความเสียหายของพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากน้ำป่าไหลหลากครั้งนี้ ได้ให้ทางหน่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบลในแต่ละเขตท้องที่ และสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สาขาอำเภอวังเหนือ เร่งสำรวจตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด และให้รีบดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่โดยเร็ว เพื่อที่ชาวบ้านผู้ประสบภัยจะได้มีกำลังใจและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โอกาสนี้ ผวจ.ลำปาง พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันนำถุงยังชีพสิ่งของเครื่องอุปโภค-บริโภค มอบช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยในเขตท้องที่ทั้ง 5 ตำบล โดยในส่วนนี้ได้นำถุงยังชีพของเหล่ากาชาดและชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง พร้อมน้ำดื่มสะอาดจากสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง ลงพื้นที่มอบช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น แก่ราษฎรผู้ประสบภัยในชุมชนบ้านแม่ตาใน หมู่ 6 ตำบลปงดอน รวมจำนวน 60 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบหนักบ้านเรือนถูกน้ำท่วมทรัพย์สินเสียหายและเป็นพื้นที่ทุรกันดารเข้า-ออก ยากลำบาก.