ผวจ.กำแพงเพชร เป็นประธานโครงการปล่อยกวางป่า 20 ตัวคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อปล่อยสัตว์กับฟื้นฟูระบบนิเวศ เติมเต็มในห่วงโซ่อาหาร อุทยานแห่งชาติคลองลาน โดยมีการติดจีพีเอส ตามกวางป่าหลังปล่อยด้วย

ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสร่วมติดตามการดำเนิน โครงการปล่อยกวางป่าคืนสู่ธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติคลองลาน โดยจุดที่จะมีการปล่อยกวาง จะต้องเดินทางไปที่ผืนป่าตะวันตกที่เป็นป่าดงดิบ อยู่ห่างจากถนน 5 กิโลเมตร โดยเข้าพื้นที่นี้ต้องใช้รถกระบะแบบขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น เพราะเส้นทางเป็นทางชันและลื่น ขณะที่ข้างทางจะเป็นเหวลึก โดยก่อนหน้านี้ได้มีการปรับพื้นที่ให้มีสภาพธรรมชาติรองรับสัตว์ใหม่ต่างถิ่น มีโป่งเทียม จุดที่จะปล่อยกวางอยู่บริเวณช่วงหลักกิโลเมตรที่ 81 เขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน เขตติดต่ออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร และอุทยานแห่งชาติวังจ้าวจังหวัดตาก ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี 

สำหรับกวางที่นำมาปล่อยครั้งนี้ เป็นกวางป่า จำนวน 20 ตัว เป็นกวางเพศผู้ 8 ตัว และเพศเมีย 12 ตัว ทั้งหมดถูกเพาะเลี้ยงจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) โดยติดปลอกคอวิทยุระบบจีพีเอส จํานวน 5 ตัว ซึ่งก่อนหน้านี้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็ได้ดำเนินปล่อยสัตว์ป่า 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2564 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 1-13 สิงหาคม 2564 รวมจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ กวางป่า จำนวน 32 ตัว และไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา จำนวน 70 ตัว

...

นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ประธานเปิดโครงการปล่อยกวางป่าคืนสู่ธรรมชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของประชากรสัตว์กีบ (Ungulates) ในหลายพื้นที่ยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากการถูกล่าเพื่อการค้าและการบริโภค และพื้นที่อาศัยถูกทำลาย โดยเฉพาะสัตว์กีบประเภทกวางป่า (Rusa unicolor) ส่งผลให้ปัจจุบันกวางป่าจัดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ในบัญชีแดงของ IUCN กวางป่ามีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชในป่า และเป็นส่วนเติมเต็มในห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนรักษาความสมดุลของระบบนิเวศป่าไม้

ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่กวางป่าได้สูญพันธุ์ไปจากหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยผืนป่าตะวันตกถือเป็นกลุ่มป่าสำคัญในการอนุรักษ์กวางป่า สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง ดังนั้นการฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบ โดยเฉพาะกวางป่า จากข้อมูลระยะยาวทำให้ทราบว่ากวางป่ามีการกระจายในพื้นที่ค่อนข้างน้อย และแนวโน้มการเพิ่มของประชากรเป็นไปได้ช้ามาก

ด้าน นายธวัชชัย เพชรบูระณิน ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูประชากรกวางป่าซึ่งเป็นสัตว์ป่าประจำถิ่นของพื้นที่อนุรักษ์ โดยคาดหวังว่าจะช่วยคืนความสมดุลของระบบนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในป่าคลองลาน โดยเกิดจากความร่วมมือของอุทยานแห่งชาติคลองลาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จ.นครสวรรค์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ และ WWFประเทศโดยทำการปล่อยกวางป่าคืนสู่ธรรมชาติจำนวนทั้งสิ้น 20 ตัว เพศผู้ 8 ตัว และเพศเมีย 12 ตัว ซึ่งเป็น กวางจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ

...

ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า กวางทั้งหมดก่อนปล่อย จนท.ติดปลอกคอวิทยุระบบจีพีเอส (GPS) จํานวน 5 ตัว เพื่อติดตามกวางป่าหลังการปล่อยโดยใช้ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม (Satellite collars) จะสามารถช่วยให้ทราบอัตราการรอดตาย และการใช้พื้นที่อาศัยของกวางป่าที่ปล่อยคืนสู่ป่า รวมทั้งช่วยในการวัดความสัมฤทธิ์ผลของการปฏิบัติงานและการวางแผนจัดการการฟื้นฟูประชากรของกวางป่าภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ทั้งนี้ ความสำเร็จของการฟื้นฟูสัตว์ป่าระยะยาวจำเป็นต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรักษา และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าให้อยู่คู่ป่าคลองลานต่อไป

ขณะที่ ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย และ ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมตซ์ (Dr.Robert Steinmetz) โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ที่ WWF-ประเทศไทย เปิดเผยว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยและติดตามสถานภาพสัตว์ป่าชนิดพันธุ์สำคัญ ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศสัตว์ที่นำมาปล่อยคัดตัวที่มีสุขภาพสมบูรณ์ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และได้เตรียมความพร้อมปรับสภาพให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค การติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เพื่อศึกษาและติดตามตัว และพฤติกรรมสัตว์ป่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย

...

สำหรับลักษณะ กวางป่า หรือ กวางป่าไทย หรือ กวางม้า เป็นกวางขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง 180-200 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นถึงไหล่ 140-160 เชนติเมตร หนัก 150-260กิโลกรัม มีเขาเฉพาะเพศผู้ จะผลัดเขาทุกปี เพศผู้อายุ 1 ปีขึ้นไปมีข้างละ 1 เขา (เขาเทียน) ปีต่อไปจะขึ้นครบข้างละ 3 กิ่ง ลำเขาจริง คือ เขากิ่งหน้าจะยาวกว่าเขากิ่งหลัง ขนาดเขาจะใหญ่ ยาวหนาขึ้นทุกปี และจะลดขนาดของเขาลงเมื่ออายุ10 ปีขึ้นไป ตัวผู้ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 24 เดือนหรือน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ตัวเมียผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 16-18 เดือน หรือน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม ตัวเมียมีรอบการเป็นสัด 17-21 วัน ระยะเวลาการเป็นสัด 1-3 วัน ระยะเวลาตั้งท้องตั้งแต่ 261-267 วัน (8 เดือน 3 อาทิตย์ 3 วัน) ตกลูกครั้งละ 1 ตัว น้ำหนักลูกแรกเกิด 6-10 กิโลกรัม หย่านมลูก 60 วัน หรือ น้ำหนักตัว 20-25 กิโลกรัม อายุยืนถึง 15-20 ปี อัตราส่วนในการคุมฝูงตัวผู้ต่อตัวเมียประมาณ 1 ต่อ 5-7 ตัว.