เคยมีคำกล่าว “นึกถึงกระดาษสา ต้องหมู่บ้านต้นเปา จ.เชียงใหม่” เพราะเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย...แต่วันนี้กระดาษสาที่ขาดง่ายเมื่อโดนน้ำ ได้เปลี่ยนรูปโฉมไป เมื่อภูมิปัญญาชาวบ้านถูกนำมาผสานกับนวัตกรรม กลายเป็น “กระดาษสาทนน้ำ”

ยกระดับเพิ่มมูลค่าการใช้งานเทียบเท่าถุงพลาสติก ภายใต้การสนับสนุนของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโปรแกรม ITAP (Innovation and technology assistance program) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“ด้วยพื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ และเป็นทายาทรุ่นที่สอง สืบทอดธุรกิจกระดาษสาจากครอบครัวของหมู่บ้านต้นเปา จ.เชียงใหม่ ประกอบกับกระแสทั่วโลกลดการใช้พลาสติก หันมาใช้สินค้าจากธรรมชาติ จึงอยากแก้ไขจุดอ่อนของกระดาษสาในเรื่องของการไม่ทนน้ำ เพื่อให้กระดาษสาถูกใช้อย่างแพร่หลายแทนพลาสติก แต่ด้วยไม่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไปปรึกษา สวทช. ภาคเหนือ จนได้เข้าร่วมโปรแกรม ITAP ที่บริการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ด้านเทคนิคช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการวิจัยและพัฒนา จนได้พบกับ ดร.มาโนช นาคสาทา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้คำปรึกษา จนพัฒนากระดาษสาทนน้ำได้สำเร็จ”

...

นายธนากร สุภาษา กรรมการผู้จัดการบริษัทซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากใยธรรมชาติแบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์ คราฟท์ (Papa Paper Craft)” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกระดาษสาทนน้ำ...โดยธรรมชาติเส้นใยกระดาษชอบน้ำมาก ประกอบกับช่องว่างขนาดเล็กในกระดาษมีจำนวนมาก ทำให้กระดาษอุ้มน้ำเหมือนกับฟองน้ำ ดังนั้นเมื่อมีการหยดน้ำหยดลงบนกระดาษ น้ำจึงแพร่กระจายไปบนผิวกระดาษเป็นวงกว้าง พร้อมทั้งซึมผ่านเข้าไปในเนื้อกระดาษได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การทำให้กระดาษสามารถกันน้ำได้ มีหลากหลายวิธี เช่น การลดช่องว่างในตัวกระดาษ โดยการเติมแป้งพร้อมกับมีกระบวนการอัดให้เส้นใยของกระดาษอยู่ชิดกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กระดาษหนาและแข็ง แต่ในที่นี้นักวิจัยได้ใช้วิธีการเติมสารที่ไม่ชอบน้ำลงไป สารพวกนี้จะทำให้มุมสัมผัสของหยดน้ำโตมาก ทำให้น้ำไม่สามารถเปียกเส้นใย และไม่สามารถซึมผ่านกระดาษได้

ทั้งนี้สารไม่ชอบน้ำที่ใช้เติมกับกระดาษสา เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการทดลองพบว่าช่วยให้กระดาษสากันน้ำได้ดี หยดน้ำสามารถกลิ้งไปมาบนกระดาษได้เหมือนที่กลิ้งบนใบบัว ที่สำคัญกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ด้วยวิธีการเดิมในกระบวนการปั่นเยื่อ ก่อนนำขึ้นไปขึ้นรูปเป็นกระดาษสา ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง ก่อนนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์

...

ปัจจุบันกระดาษสาทนน้ำ มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จาน กล่องเครื่องสำอาง และถุงกระดาษ เน้นการออกแบบรูปทรงและการตัดเย็บให้ดูทันสมัย โดยความพิเศษของผลิตภัณฑ์กระดาษสาทนน้ำ คือ เมื่อเทน้ำลงไป น้ำจะขังอยู่ในผลิตภัณฑ์จนกว่าจะเทน้ำออก การดูดซับน้ำจะมีเฉพาะผิวกระดาษชั้นนอก และกระดาษจะค่อยๆ คายน้ำออกมาจนแห้งในเวลาไม่นาน เช่น ถุงกระดาษสาทนน้ำ เราไม่ได้ทดสอบเทน้ำทิ้งไว้ในถุงเป็นวัน ก็ไม่พบการรั่วซึม ขณะที่ถุงกระดาษสาทั่วไป เมื่อเทน้ำลงไปกระดาษจะดูดซึมน้ำ เปื่อยและฉีกขาดทันที

ที่สำคัญถุงกระดาษสาทนน้ำยังนำมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 1 ปี เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ขณะที่กระบวนการผลิตกระดาษสายังเน้นใช้สีธรรมชาติ ทำให้นำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนในกระบวนการผลิตได้เกือบ 100% แทบไม่มีการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เป็นซีโร่เวสตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ถือเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจที่เท่าทันตอบโจทย์กระแสโลก

ผลิตภัณฑ์กระดาษสาทนน้ำวางจำหน่ายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก papapaperfactory ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี ทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อได้เปรียบการเป็นสินค้ารักษ์โลก และยังตอบโจทย์การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG.

...


กรวัฒน์ วีนิล