เมืองนี้ ยังต้องการร้านหนังสืออยู่ไหม.. คำถามจากทายาท "เสียงทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์" ร้านหนังสือเก่าแก่เมืองสองแคว พิษณุโลก กับภารกิจของ “รุ่นลูก” ที่รับไม้ต่อจาก “รุ่นพ่อ” เจอกับกระแสโซเชียลและสื่อออนไลน์ จนต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจ ไปต่อ..
ปรับโฉมร้านใหม่ยังไม่พอ ยังต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีขายเกือบทั้งหมด เปิดคาเฟ่มุมกาแฟในร้าน พร้อมจัด Book Club แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องหนังสือกับผู้อ่าน
ร้านเสียงทิพย์ ตั้งอยู่ริมถนนเอกาทศรถ ภายในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ของจังหวัด เจ้าของรุ่นปัจจุบันได้ปรับตัวเองสู้ภาวะเศรษฐกิจ โลกในยุคโซเชียล และผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคข่าวสาร วิธีสื่อสาร วิธีการรับรู้ในเรื่องต่างๆ ไปมาก
...
เริ่มจากปรับโฉมร้านใหม่ ให้ดูแตกต่างจากร้านหนังสือเดิมๆ..
นิติพันธ์ ตั้งนพรัตน์ อายุ 42 ปี เจ้าของร้านเสียงทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ร้านเป็นธุรกิจในครอบครัว เกิดจากแนวคิดของรุ่นพ่อเมื่อปี 2509 ที่แต่เดิมเป็นร้านขายและซ่อมวิทยุทรานซิสเตอร์เล็กๆ มีแผงหนังสือพิมพ์วางจำหน่ายให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ซื้ออ่าน ติดตามข่าวสารบ้านเมือง
“เพราะยุคนั้นคุณพ่อ คือ นายนิพนธ์ ตั้งนพรัตน์ เป็นคนที่ขาดโอกาส ได้เรียนน้อย แต่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ อยากเห็นคนมีความรู้จากการอ่านหนังสือ จึงตัดสินใจเป็นเอเย่นต์หนังสือพิมพ์หลายสำนัก ปั่นจักรยานสองล้อไปส่งให้กับลูกค้าสมาชิกที่รับหนังสือพิมพ์ถึงบ้าน จนได้ลูกค้ามาเยอะและกลายเป็นธุรกิจหลัก ในวัยเด็กทุกวันหลังเลิกเรียนผมและน้องๆ อีก 3 คน ต้องผลัดกันมาเฝ้าร้าน เพื่อขายหนังสือและคิดเงินลูกค้า หลังจากเรียนจบ ปริญญาตรี คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ก็ไปทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่ กรุงเทพฯ กระทั่งปี พ.ศ.2550 คุณพ่อเสียชีวิต จึงตัดสินใจลาออกจากงาน และกลับบ้านมาสานต่อร้านขายหนังสือของครอบครัว”
นิติพันธ์ ผู้ได้รับมรดกเป็นร้านหนังสือ กล่าวต่อว่า หลังจากยุคสมัยเปลี่ยนไป พฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนไป จึงกลับมาคิดทบทวนใหม่ ว่าเราทำร้านหนังสือไปเพื่ออะไร ร้านของเรายังควรจะเปิดต่อไปไหม เมืองนี้ยังต้องการหนังสืออยู่ไหม
ได้คำตอบว่า คนพิษณุโลกยังต้องอ่านหนังสือและร้านควรอยู่ต่อ จึงปรับปรุงร้านรูปแบบใหม่ ให้มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการอ่านเพิ่มขึ้น และเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาอ่านหนังสือ ท่ามกลางตัวเลขยอดขายที่สวนทางลดลงมาตลอด ท่ามกลางความท้อแท้ของวงการสิ่งพิมพ์ หนังสือได้รับความสนใจลดน้อยลง ร้านหนังสือต่างๆ ทยอยปิดตัวลง ลดจำนวนสาขาลงก็เยอะ
"การปรับปรุงกายภาพให้ร้านมีความทันสมัย มีมุมกาแฟ มีมุมถ่ายรูป จัดที่นั่งอ่าน เป็นความหวังในการดึงคนให้กลับมาอ่านหนังสือ และเพราะยังเชื่อมั่นว่า หนังสือยังคงไม่หายไปไหน เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นบางช่วงเป็นนิยายวายได้รับความนิยม บางช่วงเป็น HOW TO"
...
นิติพันธ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญร้านเราเป็นร้านที่มีลูกค้าตั้งแต่วัยอนุบาล จนถึงวัยสูงอายุ คนที่เข้าร้านมาจากทุกช่วงวัย ร้านมีคู่มือเตรียมสอบแต่โซนนี้กระทบจากติวเตอร์ โรงเรียนสอนพิเศษ แต่พ็อกเก็ตบุ๊คก็ยังขายดีอยู่ คนดูตามยูทูบ บรอดแคสต์ พูดเกี่ยวกับหนังสือ ว่าหนังสือแบบใดมีกระแสที่คนจะอ่าน เช่นของท่านชัชชาติ ตนก็ซื้อมาจำหน่ายที่ร้าน เป็นการสร้างคุณค่า ให้คนมีมุมมองจากการอ่าน ร้านหนังสือยุคนี้ ต้องเป็นสังคม ไม่ใช่ร้านแบบซื้อมาขายไป หรือบริการแบบร้านสะดวกซื้อ จึงจัดร้านให้ดูโล่งขึ้น มีพื้นที่ให้ลูกค้ามานั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน หรือเลือกซื้อหนังสือ ต้องมีกิจกรรมทำร่วมกัน ร้านหนังสือจึงต้องเป็นสังคมที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้ขายกับผู้ซื้ออีกแล้ว
จัด Book Club ขยายชุมชนนักอ่าน สร้างสังคมคนรักหนังสือ..
ต่อมา คือ จัดบุ๊คคลับ (Book Club ) ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ลูกค้าเสนอให้ทำ เป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนนักอ่านที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดซึ่งกันและกัน มีผู้ร่วมงานมากกว่าที่ตั้งไว้มาก บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด สิ่งนี้อาจสะท้อนได้ว่า พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดในปัจจุบันนั้นยังค่อนข้างจำกัด และการสนับสนุนจากส่วนกลางและภาครัฐยังไม่เพียงพอ จนถึงวันนี้เราได้จัดไปแล้ว 4 ครั้ง มีหลากหลายในหัวข้อหนังสือที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง และเราจะยังคงจัดกิจกรรมนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อขยายชุมชนนักอ่านให้มากขึ้น บางครั้งมีนักเขียนมาพูดคุยแชร์หนังสือ หลังจากปรับปรุงร้านมา 4 ปี ลูกค้าเราดีขึ้น ยิ่งจัดบุ๊คคลับก็ยิ่งได้คุยกับลูกค้ามากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าผู้อ่านเหนียวแน่น
...
ข้อได้เปรียบ เด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือเยอะมาก..
"คนขายหนังสือต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องอ่านหนังสือ คนขายหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือเยอะขึ้น เพื่อจะได้แนะนำลูกค้าได้ด้วย มุมมองการอ่านคนยุคปัจจุบันมีเยอะ และมีช่องทางการซื้อหลายแหล่ง สำนักพิมพ์มาขายหนังสือเองด้วย ร้านออนไลน์ก็เยอะ เด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือเยอะมากกว่าคนยุคก่อน มีแนวคิด มีความคิดที่ดี มีแฟนเพจ ไลน์ออฟฟิเชียล มีแอดมิน ตัวช่วยในการตอบสนองลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ การสื่อสารระหว่างลูกค้ากับร้านหนังสือ การหันมาทำร้านกาแฟ เป็นบาริสต้า มีการทำร้านจริงจัง มีจุดเด่นร้านเหมือนร้านกาแฟทั่วไป ซึ่งเมื่อเทียบธุรกิจ ร้านหนังสือกับร้านกาแฟ ร้านหนังสือยอดขายดีกว่าร้านกาแฟ แต่ร้านกาแฟเป็นจุดเรียกลูกค้าอีกกลุ่มเข้ามาเพิ่มขึ้น"
ให้หนังสือเป็นศูนย์กลาง ส่งต่อความรู้ ความคิด มิตรภาพ..
ท้ายที่สุด นิติพันธ์ กล่าวว่า เกือบ 60 ปี ของร้านเสียงทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์ ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เราเชื่อมาตลอดว่า นอกจากรายได้แล้ว ร้านของเราได้รับความสุขเป็นส่วนเติมเต็มจากหนังสือ และผู้ที่รักการอ่านเหมือนกับเรา เรายึดมั่นในปณิธานการมีอยู่ของหนังสือ มากกว่าการมีอยู่ของร้าน
...
หรืออาจพูดได้ว่า เราดำเนินร้านของเราต่อไปได้ เพราะการมีอยู่ของหนังสือและผู้อ่านหนังสือนั่นเอง เราให้หนังสือเป็นศูนย์กลาง เป็นแหล่งส่งต่อความรู้ ความคิด สร้างมิตรภาพให้กันและกัน ให้ร้านเป็นตัวเลือก มีหนังสือครบทุกประเภท ของทุกช่วงวัย และทุกช่วงฐานะทางสังคม.