สิ้นสุดการรอคอย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่งมอบบ้านพัก 45 หลังคืนกรมธนารักษ์ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ย้ำจุดยืนต้องรื้อถอนทั้งหมด จับตาอาคารชุดอีก 9 หลังครบกำหนดส่งคืนอีก 4 เดือนข้างหน้า

จากกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ในนาม "เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ" ในการขอคืนพื้นที่ป่าจากโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ หรือบ้านป่าแหว่ง ภาคประชาชนที่ใช้ความพยายามมานานเกือบ 4 ปีเต็มในที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวคืนแก่กรมธนารักษ์แล้ว ถือเป็นความสำเร็จของภาคประชาสังคม ที่ได้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องขอพื้นที่ป่าดอยสุเทพคืน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 เม.ย. 2565 นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เข้ารับมอบพื้นที่ 85 ไร่ และบ้านพักทั้งหมด 45 หลัง จากตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีการส่งมอบกุญแจบ้านทุกหลังให้กับกรมธนารักษ์เข้าไปดูแลรับผิดชอบ ตามมติคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาบ้านพักตุลาการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งขึ้นจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยอธิบดีกรมธนารักษ์ได้เข้าไปตรวจสอบในบ้านพักบางส่วนที่ภายในมีครุภัณฑ์ที่มีทั้งเฟอร์นิเจอร์เครื่องปรับอากาศ เตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านอื่นๆ ที่ยังอยู่ในสภาพดี ก่อนที่จะมีพิธีลงนามส่งมอบอย่างเป็นทางการ ระหว่าง นางอารีย์ เตชะหรูวิจิตร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, อธิบดีกรมธนารักษ์ และตัวแทนจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

...

นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสำนักงานศาลยุติธรรม กรมธนารักษ์ และกองทัพบก ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ จนในวันนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมโดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ตามขั้นตอนของระเบียบราชการ ส่วนหลังจากนี้บ้านพักทั้งหมดจะมีการรื้อถอน หรือ บริหารจัดการอย่างไร ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ จะดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์ของชุมชนคนเชียงใหม่ซึ่งจะเป็นไปตามมติของคณะกรมการระดับจังหวัดที่มีอยู่

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนครุภัณฑ์ที่รับมอบในวันนี้ ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ สำนักงานศาลยุติธรรม และกองทัพบก จะเข้ามาดูในรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ดูว่าหน่วยงานใดจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หากส่วนราชการใดต้องการนำไปใช้ก็จะมีการดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป ส่วนไหนไม่มีความจำเป็นก็จะจำหน่ายออกไป ขณะที่ อาคารชุดอีก 9 หลังที่อยู่ในมติต้องส่งมอบคืน จะอยู่ในการดำเนินการเฟสต่อไป ส่วนจะเกิดปัญหาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนตามมาอีกหรือไม่ คิดว่าจะทำความเข้าใจกันได้ เพียงแต่ในวันนี้ก็ถือเป็นการปลดล็อกในเฟสแรกไปแล้ว

ด้าน นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหว 29 เมษายน 2561 มาจนถึงวันนี้ ต้องขอบคุณศาลอุทธรณ์ภาค 5 และกรมธนารักษ์ ที่ได้รับพื้นที่คืนมา แม้จะเป็นส่วนบนก็ตาม หลังจากนี้ต้นเดือนมิถุนายนจะมีพิธีฮ้องขวัญดอยสุเทพ พร้อมกับเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟู สำหรับบ้านพักทั้ง 45 หลัง ที่สงสัยว่าจะต้องรื้อถอนหรือไม่ ทางเครือข่ายแสดงจุดยืนมาโดยตลอด คือ จะต้องรื้อทั้งบ้านพักทั้งหมดและอาคารชุดอีก 9 หลัง ที่ผ่านมาอาจติดขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ตอนนี้อาคารมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ประกอบกับมีมติคณะกรรมการจังหวัดที่ให้รื้อตามขั้นตอนกฎหมาย

...

ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวต่อว่า หากสุดท้ายแล้วไม่มีการรื้อถอน ทางเครือข่ายจะฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี  สำหรับอาคารชุดทั้ง 9 หลัง หลังจากนี้จะให้เวลาอีก 4 เดือน ตามที่ประชุม ครม. ได้ขอให้ผู้พักอาศัยอยู่ต่อไปก่อน จนกว่าการก่อสร้างอาคารที่พักที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ที่ จ.เชียงราย จะแล้วเสร็จและส่งมอบในวันที่ 7 กันยายน 2565 แต่จากการตรวจสอบพบว่าการก่อสร้างล่าช้าและคาดจะยืดเยื้อไปอีกหลายปี แต่ทางเครือข่ายจะขอยึดเอาวันที่ 7 กันยายน เป็นวันดีเดย์ โดยจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง เพื่อขอให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ทยอยย้ายออกเพื่อขอคืนพื้นที่และเริ่มปลูกป่าทดแทน

นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดอยสุเทพถือเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ของคนเชียงใหม่ ทางเครือข่ายขอความเห็นใจจากทางราชการเพื่อขอป่าคืน ขอเข้าไปปลูกป่า ลบรอยแหว่งของพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง ขอลบคำว่าป่าแหว่งออกไปจากแผนที่

...

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวคัดค้านเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2558 เมื่อปรากฏภาพถ่ายทางอากาศจากนักบินร่มบิน พบโครงการก่อสร้างบ้านพักที่มีทั้งบ้านเดี่ยวและอาคารชุดรวมหลายสิบหลังบนพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างบริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยภาคประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่าเป็นโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 45 หลัง และอาคารชุดอีก 13 หลัง งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท ใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ของกองทัพภาคที่ 3 และภายหลังกรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว จำนวน 147 ไร่ ในการก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ

กระทั่งวันที่ 29 เมษายน 2561 ภาคประชาชนชาวเชียงใหม่รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ” เคลื่อนไหวแสดงจุดยืนขอคืนผืนป่า โดยชี้ว่าพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักหลังเดี่ยวทั้ง 45 หลัง และ อาคารชุด 9 ใน 13 หลัง แม้จะเป็นที่ราชพัสดุ แต่อยู่ในเขตแนวป่าดั้งเดิมและไม่ได้อยู่ในเขตป่าเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าดอยสุเทพที่ถือว่าเป็นปอดของเมืองเชียงใหม่ โดยยื่นคำขาดให้มีการยุติการใช้งานและรื้อถอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม นับแต่นั้นเป็นต้นมามีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้ง เดินขบวน เปิดเวที และรณรงค์ผูกริบบิ้นสีเขียวเป็นสัญลักษณ์

...

ต่อมา 16 สิงหาคม 2561 มติคณะกรรมการจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจากคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติสั่งรื้อบ้านป่าแหว่ง 45 หลัง และคอนโดมิเนียม 9 ใน 13 หลัง แต่ผ่านไปนานเกือบสองปีก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนมาถึงปลายปี 2563 กรมธนารักษ์ยังไม่รับมอบอาคารและพื้นที่คืนจากสำนักงานศาลยุติธรรม โดยระบุว่าไม่มีกฎหมายรองรับครุภัณฑ์ในบ้านพัก

กระทั่งกลางปี 2564 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือให้กรมธนารักษ์รับมอบอาคารพร้อมครุภัณฑ์และบ้านพักได้ แต่กว่าจะมีการส่งมอบกันในวันนี้ก็ผ่านมานานเกือบหนึ่งปี ซึ่งความล่าช้าในการรับมอบคืน ธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ยืนยันไม่ได้ยื้อเวลา แต่จะต้องมีการตีความและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างรอบคอบ.