ช้างน้อยปลอดภัย แต่แม่ช้างรับต้องให้น้ำเกลือและยาบำรุงรอดูอาการ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างฯ เตรียมนำสัตวแพทย์ช่วยช้างบนดอยใน จ.เชียงใหม่ ยอมรับห่วงความเป็นอยู่ช้าง เสี่ยงรับสารเคมีจากการเกษตร
กรณี นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้นำภาพการเสียชีวิตของช้างพังโม๊ะเก๊ะจือ เพศเมีย อายุประมาณ 31 ปี เป็นช้างของชาวบ้านต้นงิ้ว ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ไปกินปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการทำเกษตรของชาวบ้านหมู่บ้านทีจืออะลอคี ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เขตติดต่อ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จนล้มเสียชีวิต ทิ้งลูกน้อยพลายพาเก้แหม่ เพศผู้ อายุประมาณ 11 เดือน ยืนเฝ้าร่างไม่ยอมห่าง เป็นภาพที่น่าสลดใจยิ่งนัก โดยมีพังโมโม่ ช้างแม่รับ หรือผู้ช่วยแม่ช้างเลี้ยงลูก ซึ่งก็มีการกินสารเคมีเข้าไปด้วย มีอาการป่วยเช่นกัน แต่ยังยืนเฝ้าช้างน้อยอยู่ ทางควาญช้างและคนของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างฯ ต้องไปช่วยนำช้างน้อยและช้างแม่รับส่งโรงพยาบาล โดยต้องเดินเท้า 8 ชั่วโมงออกมาที่ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย ก่อนนำขึ้นรถของมูลนิธิอนุรักษ์ช้างฯ ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง
...
รายงานอาการล่าสุดเมื่อเย็นวันที่ 23 เม.ย. 2565 นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงอาการของช้างแม่รับ ว่า หลังจากที่ไปถึงอาการของพังโมโม่ยังคงถ่ายอุจจาระเหลว ทางสัตวแพทย์ได้ให้น้ำเกลือและยาบำรุง และดูอาการว่ามีการกินสารพิษไปมากน้อยอย่างไร ส่วนพลายพาเก้แหม่ ช้างน้อยมีอาการซึมและยังร้องหาแม่ช้างตลอด โดยยืนอยู่ใกล้แม่ช้างรับไม่ยอมห่าง ซึ่งทางสัตวแพทย์ก็ต้องเฝ้าดูอาการ เพราะช้างน้อยต้องดื่มน้ำนมจากแม่ช้าง อาจจะมีสารพิษตกค้างมาถึง
ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงชีวิตของช้างที่อมก๋อย เพราะต้องอยู่อย่างลำบาก เสี่ยงชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ เสี่ยงชีวิตจากไม่มีอาหาร เสี่ยงชีวิตจากสารพิษตกค้าง เพราะปัจจุบันนี้มีเรือกสวนไร่นาเยอะมาก และเป็นช่วงฤดูกาลแห่งการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมียาฆ่าแมลง แหล่งน้ำก็ไม่ปลอดภัย เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาก็มีช้างถึง 8 เชือกที่ต้องนำส่งโรงพยาบาลช้างที่ไปกินสารพิษเข้าไป นี่ยังไม่รวมช้างป่าจะสูญเสียอีกเท่าไร ที่ช้างเหล่านั้นได้เดินเข้าไปในเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านที่มีปุ๋ยและสารยาฆ่าแมลงกองไว้หลายแห่งเป็นอันตรายมาก ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ ได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือช้างเหล่านี้ที่อมก๋อย โดยให้ทั้งเงินในการช่วยเหลือช้างแต่ละเชือก และจะจัดทีมสัตวแพทย์ขึ้นไปช่วยตรวจดูแลช้างเหล่านี้ด้วย
นางแสงเดือน กล่าวอีกว่า ส่วนตัวในนามมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ทำงานเรื่องช้างมานานแล้ว อยากจะฝากถึงรัฐบาลไทยว่าช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และเขาทำเงินเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีหนึ่งเป็นพันล้านบาท แม้คนเลี้ยงช้างและช้างลำบาก ถึงเวลาหรือยังที่จะหันมาช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ถ้าท่านไม่สามารถดูแลเรื่องงินทองได้ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าป่าไม้ กรมอุทยานจัดสรรที่อยู่ของช้าง เพื่อให้เขาได้อยู่อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ไปบุกรุกที่ชาวบ้าน
...
"ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เพราะช้างไม่มีที่อยู่ จากที่ได้เห็นมาช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 หน่วยงานรัฐละเลยไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของช้างเลย แต่พอการท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่านก็ใช้ช้างนี่แหละทำมาหากินในการนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ ฝากด้วยหากท่านบริหารจัดการเรื่องช้างไม่เป็นก็ขอให้คิดใหม่ เพราะว่าช้างจะไม่มีชีวิตหลงเหลือถ้ายังไม่ให้ความสำคัญต่อช้างไทย ก็ขอฝากรัฐบาลด้วยในเรื่องนี้" ประธานมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อมกล่าว.