“ฟักทองไข่เน่า” เป็นฟักทองพันธุ์พื้นเมืองของ จ.น่าน จุดเด่นมีเนื้อเขียวอมเหลือง รสชาติหวานมันและเนื้อเหนียวหนึบ แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่ชะตากรรมเจ้าฟักทองชนิดนี้กำลังถูกมองข้าม ปล่อยปละละเลย และมีแนวโน้มอาจถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด นำองค์ความรู้และเทคโนโลยี ไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ปลูกฟักทองหลากหลายสายพันธุ์

ที่ยังขาดองค์ความรู้ในการปลูก การคัดเลือกพันธุ์ให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอ ทั้งในเรื่องรูปทรง สี รสชาติ และเนื้อสัมผัส โดยเฉพาะพันธุ์ฟักทองไข่เน่า...เริ่มต้นจากร่วมกับเกษตรกรคัดเลือกสายพันธุ์ฟักทองไข่เน่าให้ได้ตามลักษณะพันธุ์ดั้งเดิม ให้ความรู้ด้านการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ และได้คุณภาพตรงความต้องการของตลาด

ทำให้ได้ฟักทอง ไข่เน่าที่สมบูรณ์ ได้ทั้งคุณภาพและมาตรฐาน สามารถปลูกได้ทั้งปี แถมร่นระยะเวลาเก็บ เกี่ยวจาก 150 วัน เหลือแค่ 85-90 วัน

นอกจากการคัดสายพันธุ์แล้ว ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้ชุมชนสามารถเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง การแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น เส้นบุกฟักทอง เส้นขนมจีนฟักทอง ข้าวเกรียบฟักทอง ฟักทองผง

เมล็ดที่เหลือ...นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดฟักทอง สำหรับผลผลิตที่เสียหายในแปลง หรือเศษเหลือจากการตัดแต่ง นำไปหมักกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ ไปเป็นอาหารเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

ปัจจุบันชุมชนอยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนให้ “ฟักทองไข่เน่า” เป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของพันธุ์ และยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ว่าเป็นฟักทองอัตลักษณ์ของ จ.น่าน

...

ทั้งนี้ “ฟักทองไข่เน่า” เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นในงาน NAC 2022 ที่จัดนิทรรศการออนไลน์ผลงานที่เกี่ยวกับ BCG Model มากกว่า 100 ผลงาน ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคมนี้ สนใจเข้าร่วมงานดูรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2564-8000.

สะ–เล–เต