จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว...เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง
จังหวัดอุตรดิตถ์ ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาสังคม ผ่านกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งเสริมการผลิตถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวภาพ จากวัสดุเหลือใช้ภายในสวนทุเรียน
สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สนับสนุนให้มีการใช้เศษวัสดุทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถลดปริมาณขยะที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยการผลิตทุเรียนของอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ให้ผล 37,113 ไร่ ผลผลิตรวม 27,092 ตัน มีกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน 2 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านด่านนาขาม และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล มีพื้นที่รวม 761 ไร่
สำหรับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล ได้มีการนำวัสดุเหลือใช้จากสวนทุเรียนมาผลิตถ่านไบโอชาร์ เมื่อกลางปี 2564 โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้นำองค์ความรู้มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตเตาสเตนเลสเพื่อเผาถ่านจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เปลือกทุเรียน ผลทุเรียนที่ร่วงหล่น และกิ่งใบ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาเผาที่ความร้อน 600-800 องศาเซลเซียส
จะได้ถ่านเปลือกทุเรียนคุณภาพดี มีความพรุนสูง สามารถนำไปบำรุงฟื้นฟูและเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน เนื่องจากความเป็นรูพรุนของถ่านจะกักเก็บน้ำได้นาน ที่สำคัญสามารถลดขยะจากเปลือกทุเรียนที่มีปริมาณมาก
...
โดยผลผลิตถ่านไบโอชาร์เปลือกทุเรียนที่ได้ส่วนใหญ่สมาชิกเกษตรกรจะนำมาใช้ในสวนของตนเอง ส่วนผลผลิตถ่านที่เหลือจะจำหน่ายให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปนำไปใส่บำรุงดินสำหรับเพาะกล้าไม้.
สะ-เล-เต