คนเลี้ยงหมูเชียงใหม่ ขอรัฐบาลแจกแม่พันธุ์รายละ 2 ตัว ขยายพันธุ์แก้ปัญหาขาดตลาด แนะรัฐจัดแคมเปญชวนกลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง ด้านปศุสัตว์เปิดล้านนาแซนด์บ็อกซ์สกัดโรคระบาดเข้า 8 จังหวัดเหนือตอนบน


เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 65 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังปัญหาหมูแพงจากผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัดภาคเหนือ ตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ และผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยาผู้เลี้ยงหมูโดยเร็ว รวมทั้งออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้รายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการกำหนดราคาควบคุมทั้งหมูเป็นและหมูชิ้นส่วนเพื่อให้เกิดการแข่งด้านราคาซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือยังขอแม่พันธุ์สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อยรายละสองตัว เพื่อนำไปให้ขยายพันธุ์เพิ่มหนึ่งต่อสิบตัว รวมทั้งขอให้รัฐบาลจัดหาหมูขุนอายุสองเดือนให้กับรายย่อยรายละ 20 ตัว และขอให้รัฐบาลชะลอการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ

...

นายประภัตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการเลี้ยงสุกรประมาณ 20 ล้านตัว จากผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 190,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย 185,000 ราย ที่เลี้ยงสุกรประมาณ 5 ล้านตัว ที่เหลือเป็นรายใหญ่ประมาณ 3,000-4,000 ราย แต่เลี้ยงสุกรถึง 15 ล้านตัว สำหรับภาคเหนือเป็นพื้นที่เลี้ยงสุกรรายย่อยมากที่สุดของประเทศกว่า 70,000 ราย แต่ที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นและปัญหาสุกรขาดแคลนจากโรคระบาด ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยง ล่าสุดเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

รมช.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ขอความร่วมมือฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดกลางแบ่งลูกหมูมาให้รายย่อยช่วยเลี้ยง เป็นการให้รายย่อยมาช่วยเสริมรายใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ เรื่องนี้มีความจำเป็นเพราะช่วงนี้ต้องเร่งส่งเสริมการเลี้ยงเพิ่มในประเทศ เพราะกว่าลูกสุกรจะโตมาแทนที่ตลาดได้ 3-5 ล้านตัวต้องใช้เวลาหลายเดือน ปัญหาหมูแพงที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงได้มีการอนุมัติเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกว่า 180,000 ราย กลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมมาตรการและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง พร้อมเติมทุนแก่เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ภายใต้โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร

ด้านนายพนม มีศิริพันธ์ ปศุสัตว์เขต 5 บอกว่า กรมปศุสัตว์ได้อนุมัติให้พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจัดโครงการ “ล้านนาพิกแซนด์บ็อกซ์” มีมาตรการจัดจุดตรวจจุดสกัดที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ และ อ.แม่พริก จ.ลำปาง ไม่อนุญาตให้นำสุกรที่ไม่ผ่านมาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้งนี้เนื่องจากภาคเหนือเป็นตลาดใหญ่ แต่ละเดือนมีชิ้นส่วนสุกรจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามากว่าเดือนละ 3 ล้านกิโลกรัม ส่วนหมูเป็นเข้ามาเดือนละกว่า 20,000 ตัว ซึ่งมาตรการนี้เพื่อป้องกันและสกัดกั้นโรคระบาดเข้าสู่พื้นที่.

...