ร่องรอยล่าสุด เสือโคร่งวิจิตรหลังออกจากป่าห้วยขาแข้ง พบเดินเข้าสู่ป่าลึกของ อช.แม่วงก์ แล้ว เพื่อปักหลักหาที่อาศัยหากินของตัวเองตามวิถีเสือหนุ่ม เนื่องจากอุดมสมบูรณ์มากกว่า 

กรณีเสือโคร่งหนุ่ม "วิจิตร" เสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หายตัวออกจากป่าไปตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เป็นเสือที่อยู่ในการดูแลและเฝ้าดูพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ จึงมีปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณไว้ เดินลัดเลาะแนวสันเขาช่วงปลายๆ ลำห้วยขาแข้ง และห้วยทับลาน ช่วงแรกๆ สัญญาณดาวเทียมปลอกคอ GPS แจ้งเป็นระยะๆ ว่าเสือโคร่งวิจิตรเดินอ้อมขึ้นทางเหนือระหว่างรอยต่อบริเวณบ้านปางสัก อำเภอแม่เปิ่น ติดต่อกับตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ก็หันไปทางทิศตะวันออก เพราะต้องเดินตามหุบเขา ร่องน้ำ และราบเชิงเขา เดินตัดข้ามเขาที่ทอดยาวหลายๆ สิบลูก กระทั่งลัดเลาะถึงบ้านเขาน้ำอุ่น ขุนเขาเขาน้ำอุ่นที่ทอดยาวระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร เข้าสู่ผืนป่าอนุรักษ์แม่วงก์ฝั่ง จ.นครสวรรค์ แถบ ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์

ต่อจากนั้นเสือโคร่ง "วิจิตร" เดินเลยขึ้นมาถึงเขาน้ำอุ่น พื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ และหลังวัดบ่อหิน ต.ปางมะค่า อ.ขาณุวรลักษบุรี ตรวจพบว่าเสือวิจิตรเดินข้ามถนนหมายเลข 1072 สายเขาชนกัน-เขาน้ำอุ่น-คลองลาน และเดินกลับขึ้นเขาน้ำอุ่น ห่างจากป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 10 กิโลเมตร จากนั้นพบเสือวิจิตร เดินหันกลับมาทางสันเขาบ้านคลองลึก อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร กระทั่งวันที่ 5 ธ.ค. พบรอยเท้าในลำธารกลางไร่มันสำปะหลังของชาวบ้าน พื้นที่วัดเขาเทพนิมิตร และสุดท้ายเช้าวันนี้เจอรอยเท้าอีก 8 รอย ในเส้นทางกลับเข้าป่า รวมเวลาออกมาเที่ยวนอกป่า 7 วัน สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่เสือเดินผ่าน ตามที่ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอไปแล้วนั้น

...

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ธ.ค.64 ทีมวิจัยโครงการ Thailand Tiger Project DNP นำโดย ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และ หน.สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เจ้าหน้าที่ ชรบ. อส.ฝ่ายปกครองอำเภอปางศิลาทอง พบรอยเท้าเสือวิจิตร บนพื้นทรายอีก 2 จุด บริเวณพื้นที่หมู่ 3 บ้านอ่างหิน ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง

ร่องรอยเสือที่พบ เดินลัดเลาะไร่มันสำปะหลัง เป็นรอยขาหลังข้างขวาและขาหน้าข้างขวา ห่างจากจุดช่วงเย็นที่ผ่านมาประมาณ 200 เมตร โดยพิกัด GPS ส่งสัญญาณอยู่ใกล้ขอบผืนป่าแม่วงก์ ประมาณ 300 เมตร เจ้าหน้าที่ชุดติดตามฯ เดินตามร่องมันสำปะหลังชาวบ้าน พบรอยการเดินของเสือวิจิตรอีก 3 จุด และเมื่อเดินต่อไปถึงขอบรั้วลวดหนามกั้นแนวเขต อช.แม่วงก์ พบรอยเท้าเสือวิจิตรอีก 1 จุด

นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ โครงการวิจัยติดตามพฤติกรรมของโครงการ Thailand Tiger Project DNP หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า หลังจากพบพิกัดเสือวิจิตรเข้ามาถึงพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร และใกล้ชุมชน ทีมวิจัยฯ ใช้เวลาตลอดเวลาในการจับพิกัดปลอกคอ 2-3 วันที่ผ่าน ในการค้นหาเสือวิจิตร ซึ่งมีผู้ช่วยคือชาวบ้าน แจ้งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าพบรอยเท้าเสือวิจิตร มุ่งหน้าเข้าสู่ผืนป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ฝั่งจังหวัดกำแพงเพชร กระทั่งจับสัญญาณจากปลอกคอ รู้พิกัดชัดเจนว่าอยู่จุดที่กำลังเดินเลาะล่องลงมาจากเขาน้ำอุ่น มุ่งหน้าเข้าป่าลึกแถบหลังหมู่บ้านบ้านคลองปลาสร้อย ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงจัดทีมผลักดันเสือโคร่งออกเป็น 2 ชุดจากอุทยานแห่งชาติคลองลาน-อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหน่วยซับตามิ่ง เพื่อดูแนวโน้มว่าออกมาจากป่าเข้าชุมชนอีกหรือไม่

ด้าน นายธวัชชัย เพชระบูรณิน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ อช.คลองลาน และ อช.แม่วงก์ ร่วมกับชุด ชรบ.ปางศิลาทอง ลาดตระเวนแนวรอยต่อผืนป่าหมู่บ้านปางเหนือ หมู่บ้านคลองปลาสร้อย ต.ปางตาไว อ.ปางศิลาทอง อีกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ

...

สำหรับ เสือโคร่งวิจิตร เติบโตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หุบเขาที่ราบ แนวเขา มีหุบลำห้วยที่ไหลออกมาสู่หุบเขาใหญ่มีภูเขาล้อม ไม่ห่างจากอำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์ ที่อยู่ใกล้แนวเขามีบ้านเรือนชุมชนอาศัยอยู่รวมทั้ง มีไร่ พืชผลการเกษตรจึงได้ยินพบปะผู้คน รวมทั้งเสียงรถไถของชาวไร่ แต่ก็ไม่เคยไปรุกรานคนในหมู่บ้านนั้นๆ เมื่ออายุถึงวัยที่ต้องออกผจญโลกภายนอกในป่าดงดิบ จากแผนที่จะเห็นว่าตลอดแนวพื้นที่มีหุบเขาที่ราบภูเขาหลายๆ แห่ง และทุกๆ แห่งก็ถูกจับจองพื้นที่เป็นบ้านเรือน ทำพืชไร่จนเหลือพื้นที่ป่าน้อยมาก


เสือโคร่งวิจิตร จึงต้องเดินผ่านเพื่อหาป่าอนุรักษ์ ที่มีหุบเขาที่ราบดีๆ มีความสมบูรณ์พร้อม มีแหล่งน้ำ และมีสัตว์ป่าเล็กใหญ่อาศัยอยู่ เช่น เก้ง กวาง กระทิง ช้าง เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ครอบครองเพื่อใช้หากินเป็นของตนเอง และไม่มีการใช้ทับร่วมกับตัวอื่นๆ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาจึงต้องมีความท้าทายความสามารถตนเอง เสี่ยงเดินทางจนกระทั่งเข้าสู่เขตผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งคาดว่าในผืนป่า “วิจิตร” คงเดินเข้าป่าลึกไปทางทิศตะวันตกสู่พื้นที่บริเวณผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพราะเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์

...

ขณะที่ นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า สำหรับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชรและอำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิ่น จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่มีต้นน้ำลำธารทอดยาวไปตามเทือกเขาสูงชัน เกิดเป็นน้ำตกมากมายหลายๆ แห่งตามธรรมชาติ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร

ส่วนของเสือโคร่งวิจิตรที่เดินเข้ามาเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้วนั้น ได้มีการคาดการไว้ 4 ทิศทางที่เสือวิจิตรจะปักหลักฐานอาศัยอยู่
1. บริเวณผืนป่า บ้านอ่างหิน ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จุดที่เดินเข้ามา เพราะเดิมในอาณาเขตนี้มีเสือตัวเมียอาศัยอยู่ แต่มีเหยื่อซึ่งจะเป็นอาหารน้อยมาก รวมทั้งมีพื้นที่เพียง 80 ตารางกิโลเมตรให้อาศัยอยู่เท่านั้น
2. หากเดินผ่านไปทางทิศใต้เพื่อมุ่งหน้าไปหาที่อยู่อาจจะถูกผลักดันจากเสือโคร่งตัวผู้ ซึ่งมีร่างกายที่แข็งแรงและตัวใหญ่กว่ามากหากเกิดการต่อสู้คงจะสู้ไม่ไหวชิงพื้นที่ไม่ได้ต้องถอยหนีออกมา
3. เคลื่อนตัวเดินขึ้นไปสู่ด้านบนของผืนป่าแม่วงก์สู่หลักกิโลเมตรที่ 93 บริเวณจุดชมวิว “โมโกจูน้อย” ทางไปช่องเย็นที่มีภูเขาน้อยใหญ่และต้นไม้นานาพันธุ์และสัตว์ป่าอาศัยอยู่ มีพื้นที่สามารถครอบครองอาณาเขตได้ถึง 100 ตารางกิโลเมตร
4. สุดท้ายหากเดินไปหาที่อยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่ไม่สามารถช่วงชิงได้ หากจะไปอยู่บริเวณที่ไม่มีห่วงโซ่อาหารอยู่ได้อย่างสมบูรณ์เพียงพอและไม่ปลอดภัย อาจจะถอยลงมา เข้ามาอาศัยชายเขาหมู่บ้านชุมชน เพราะเสือวิจิตรเดิมเคยมีนิสัยคุ้นเคยกับชุมชนมาตั้งแต่เกิด หรืออาจจะเดินทางกลับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

...

ทั้งนี้ในวงจรของสัตว์นักล่าอย่างเสือโคร่ง เป็นราชันแห่งพงไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรของห่วงโซ่อาหารอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ด้วย เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่อย่างสันโดษ มักหลบซ่อนในถ้ำ พุ่มไม้ หรือต้นไม้ที่หนาแน่น มีอายุเฉลี่ย 15 ปี ต่อตัว.